ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี Hyperloop ในประเทศไทยโดยบริษัท TransPod
ระบบขนส่งเป็นหัวใจของการพัฒนาและกระจายความเจริญของประเทศ พรรคอนาคตใหม่โดยธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจร่วมมือกับบริษัท TransPod ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเทคโนโลยี Hyperloop ในประเทศไทย โดยเทคโนโลยี Hyperloop เป็นรูปแบบการขนส่งใหม่ของโลกสามารถเดินทางได้รวดเร็วมากกว่าเครื่องบิน
นอกจากใช้เป็นระบบขนส่งแล้วยังเป็นโอกาสสำคัญในการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยีการขนส่ง Hyperloop การผลิตชิ้นส่วนเชิงอุตสหกรรมในภูมิภาค
เทคโนโลยี Hyperloop คืออะไร
เทคโนโลยี Hyperloop ได้ถูกคิดค้นและนำเสนอมานานแล้วแต่ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop ไม่สามารถทำได้จริงในเชิงพาณิชย์ ต่อมาในปี ค.ศ. 2013 อีลอน มัสก์ผู้บริหารบริษัท SpaceX ได้รวบรวมวิศวกรของบริษัทเพื่อเขียนเอกสารเทคโนโลยี Hyperloop ชื่อเอกสาร Hyperloop Alpha โดยเปิดให้บริษัทต่าง ๆ นำเอกสาร Hyperloop ไปพัฒนา
เทคโนโลยี Hyperloop ใช้การขนส่งที่นำเอาแนวคิด Levitation Concept การยกตัวของยานพาหนะโดยหลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ การลอยตัวด้วยแม่เหล็ก (Magnetic Levitation) และการลอยตัวด้วยอากาศ (Air Bearing) ภายในท่อขนส่งที่มีการปรับแรงดันอากาศให้เบาบางเพื่อลดแรงต้านของอากาศทำให้สามารถเดินทางได้รวดเร็วกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น
ธนาธรเดินทางไปดูระบบขนส่ง Hyperloop ที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา
แนวคิดการสร้าง Hyperloop กลายเป็นข่าวใหญ่ในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมาโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เดินทางไปดูระบบขนส่ง Hyperloop ของบริษัทต่าง ๆ ที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาด้วยตัวเองและเลือกบริษัท TransPod เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี Hyperloop ในประเทศไทยโดยใช้เงินทุนส่วนตัวว่าจ้างบริษัท
อ่านเพิ่มเติม : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเดินทางไปดูระบบขนส่ง Hyperloop ที่สหรัฐอเมริกา
ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี Hyperloop ในประเทศไทย
เทคโนโลยี Hyperloop เป็นรูปแบบการขนส่งแบบใหม่คลื่นลูกที่ 5 ถัดจากเรือ รถไฟ รถยนต์และเครื่องบิน การศึกษาความเป็นไปได้ของบริษัท TransPod มองว่าเส้นทางที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน คือ เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ระยะทาง 590 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 52 นาทีและเส้นทางกรุงเทพ-ภูเก็ตระยะทาง 725 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 1 ชั่วโมงกับอีก 4 นาที ระบบ Hyperloop จะสามารถส่งผู้โดยสารเข้าถึงตัวเมืองได้ในทันทีไม่ต้องใช้ระบบขนส่งอื่นถ่ายโอนผู้โดยสารเข้าตัวเมืองแบบการใช้เครื่องบิน
บริษัท TransPod นำเสนอเทคโนโลยี Hyperloop โดยการขนส่ง Pod ห้องโดยสารความยาว 25 เมตรผ่านทางท่อที่มีแรงดันต่ำผสมกับเทคโนโลยีแม่เหล็กไฟฟ้า ท่อขนส่ง Hyperloop จะยกขึ้นสูงจากพื้น 4 เมตรส่วนด้านบนของท่อ Hyperloop ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้าไปตลอดเส้นทางความยาวของท่อ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากเพียงพอสำหรับใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อน Hyperloop และกระจายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเพื่อใช้งานในเมือง
Hyperloop เดินทางด้วยความเร็วสูงสุด 1,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
การเดินทางด้วยระบบขนส่ง Hyperloop สามารถทำความเร็วสูงสุดได้มากถึง 1,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและมีความปลอดภัยระดับเดียวกับเครื่องบินโดยสารสามารถเดินทางได้ในทุกสภาพอากาศเนื่องจากแคปซูล Pod เดินทางภายในท่อ เทคโนโลยี Hyperloop ใช้พลังงานไฟฟ้าลดการปล่อยสาร CO2 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ สามารถปล่อยแคปซูล Pod ออกจากสถานีในความถี่ที่มากกว่ารถไฟความเร็วสูงขนส่งผู้โดยสารในอัตรา 4,000 คนต่อชั่วโมง ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้ง 2 เส้นทางประมาณ 598 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ค่าโดยสารอยู่ที่ประมาณ 1,012 บาทต่อที่นั่ง
อย่างไรก็ตามปัจจุบันหลายบริษัทที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop สามารถทำความเร็วได้เพียง 387 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยบริษัท Virgin Hyperloop One ซึ่งอาจสามารถทำความเร็วมากกว่านี้ได้ในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้บริษัท Hyperloop Transportation Technologies หรือ HTT กำลังเริ่มก่อสร้างเส้นทางทดสอบระบบ Hyperloop ที่ประเทศฝรั่งเศสและจะทดสอบแคปซูล Hyperloop ได้ภายในปี 2019
อ่านเพิ่มเติม : แนวคิด Hyperloop Pod ของบริษัท TransPod
นอกจากแนวคิดการใช้งานเทคโนโลยี Hyperloop ในประเทศไทยพรรคอนาคตใหม่ยังให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนา R&D ในประเทศไทย โดยตั้งเป้าก่อสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop ในประเทศไทยภายในปี 2021 ความยาวของท่อ Hyperloop กว่า 10 กิโลเมตรยาวที่สุดในโลกใช้เวลาวิจัยพัฒนาประมาณ 9 ปีก่อนเปิดให้บริการระบบขนส่ง Hyperloop ในปี 2030 ส่งประเทศไทยให้กลายเป็นประเทศแรก ๆ ที่เปิดให้บริการระบบขนส่ง Hyperloop ของโลก
คลิปวิดีโอการแถลงข่าวผลการศึกษาเทคโนโลยี Hyperloop ในประเทศไทย
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเทคโนโลยี Hyperloop ในประเทศไทย
เทคโนโลยี Hyperloop กำลังอยู่ในช่วงวิจัยพัฒนาโดยหลายบริษัทและอาจต้องใช้เวลาในการวิจัยพัฒนาอีกซักระยะหนึ่งเพื่อทำให้สามารถเดินทางด้วยความเร็วกว่า 1,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประเทศต่าง ๆ ที่สนใจเทคโนโลยี Hyperloop อยู่ในจุดวัดใจที่รัฐบาลจะต้องเลือกว่าจะรอให้เทคโนโลยีเทคโนโลยี Hyperloop พัฒนาจนถึงจุดที่สามารถใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์และรอซื้อเพื่อนำมาใช้งานในประเทศ หรือจับมือกับบริษัทที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop เพื่อพัฒนาไปพร้อมกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งแบบใหม่นี้
วิธีการจับมือกับบริษัทเพื่อวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop นี้มีความเสี่ยงสูงกว่าตัวเลือกวิธีแรก แต่สามารถทำให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop ในอนาคต ระบบขนส่ง Hyperloop จะกลายเป็นเทคโนโลยีการขนส่งหลักเป็นคลื่นลูกที่ 5 เป็นตัวเลือกที่มีความคุ้มค่ามากกว่ารถไฟความเร็วสูงและประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยี Hyperloop เป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีของภูมิภาคไม่ใช่เป็นเพียงประเทศผู้ซื้อเทคโนโลยีอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
อย่างไรก็ตามแม้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะให้ความสำคัญกับการขนส่งระบบรถไฟธรรมดารางคู่โดยมองข้ามรถไฟความเร็วสูงในบางเส้นทางที่เริ่มประมูลงานไปแล้วนั้นอาจเป็นตัวเลือกที่มีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงพื้นที่สถานีกลางบางซื่อที่มีการก่อสร้างให้รองรับรถไฟความเร็วสูงไปแล้วและมีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปมากพอสมควร ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop อีกอย่างน้อย 9 ปีอาจทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนาไปและงบประมาณจำนวนมหาศาล
ดังนั้นรูปแบบที่มีความเป็นไปได้ คือ การให้ความสำคัญกับรถไฟธรรมดารางคู่กระจายทั่วประเทศ รถไฟความเร็วสูงในบางเส้นทางที่มีความคุ้มค่าในการก่อสร้างและการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop ควบคู่ไปด้วย เมื่อเทคโนโลยี Hyperloop ถูกพัฒนาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้จึงเริ่มสร้างตามเส้นทางที่มีการศึกษาความเป็นไปได้เอาไว้ในประเทศไทย
ที่มาของข้อมูล
About TransPod
Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ