หุ่นยนต์ iCub ฮิวแมนนอยด์ร่างอวตารของมนุษย์
หุ่นยนต์ iCub เป็นหุ่นยนต์ประเภทหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ (Humanoid) ลักษณะคล้ายมนุษย์ออกแบบโดย RobotCub Consortium และมีสถาบันเทคโนโลยีแห่งประเทศอิตาลี หรือ IIT เป็นผู้สร้างตัวหุ่นยนต์ต้นแบบตัวแรกขึ้นมา แนวคิดการพัฒนาหุ่นยนต์เป็นลักษณะโอเพ่นซอร์สทั้งซอฟแวร์ฟรีและฮาร์ทแวร์ โดยมีสถาบันวิจัยต่าง ๆ ทั้งในยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่นรวมกันกว่า 20 แห่งร่วมวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ iCub ต้นแบบหุ่นยนต์ตัวแรกเปิดตัวในปี 2009
หุ่นยนต์ iCub
หุ่นยนต์ iCub ถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเด็กอายุ 3.5 ขวบมีส่วนสูงประมาณ 1 เมตรใช้การควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์และเซนเซอร์ โปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์พัฒนาโดยภาษา C++ มีข้อต่อที่สามารถหมุนได้ทั่วร่างกายของหุ่นยนต์ 53 ชิ้นใช้มอเตอร์ไฟฟ้าสร้างแรงขับเคลื่อน 53 ตัวทำให้หุ่นยนต์มีการเคลื่อนไหวได้คล้ายมนุษย์มากขึ้น บริเวณศรีษะมีลำโพง ไมโครโฟนและกล้องจับภาพเพื่อโต้ตอบกับมนุษย์ผู้ควบคุม
ความสามารถที่หลากหลายเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของหุ่นยนต์ iCub เนื่องจากมีผู้ร่วมพัฒนาหลายแห่ง ตัวอย่างเช่นสามารถในการควบคุมจากระยะไกลผ่านทางระบบ Teleoperation มนุษย์ผู้ควบคุมสามารถมองเห็นในมุมมองเดียวกับหุ่นยนต์ผ่านแว่นตา VR และอุปกรณ์ควบคุมการเคลื่อนที่เสมือนหุ่นยนต์ iCub เป็นร่างอวตารของมนุษย์แบบในภาพยนตร์เรื่องอวตาร
นอกจากนี้หุ่นยนต์ iCub ยังมีความสามารถอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การทรงตัวในขณะที่เดินเพื่อป้องกันการล้มแบบเดียวกับหุ่นยนต์ Atlas ของบริษัท Boston Dynamic ระบบการเรียนรู้ลักษณะของวัตถุที่มีความแตกต่างกัน การคลานไปกับพื้นเพื่อมองหาเครื่องหมายตามคำสั่ง การยิงธนูที่ถูกต้องแม่นยำ ระบบการแสดงสีหน้าและอารมณ์ของหุ่นยนต์ การควบคุมแรงในการหยิบจับสิ่งของ ระบบการหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง
ยุคเริ่มต้นของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้เริ่มต้นมาได้หลายสิบปีแล้วในเชิงของวิวัฒนาการถือว่าหุ่นยนต์ทำได้อย่างรวดเร็วหากเปรียบเทียบกับมนุษย์ที่ต้องใช้เวลาวิวัฒนาการนานหลายสิบล้านปีกว่าจะสามารถยืนตัวตรงและเดินด้วยขาทั้งสองข้างได้แบบในมนุษย์ยุคปัจจุบัน การวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ที่ทำโดยองค์กรหรือเพียงบริษัทเดียวอาจได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่มันจะมีประสิทธิภาพและหลากหลายมากกว่าถ้าหากทำงานร่วมกันเป็นเครือขายวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์แบบการพัฒนาหุ่นยนต์ iCub
หุ่นยนต์ iCub ถูกควบคุมแบบร่างอวตารโดยมนุษย์
ที่มาของข้อมูล
icub.org , wikipedia.org , phys.org , sciencedirect.com , researchgate.net