ทีมนักศึกษาไทยสร้างต้นแบบ Hyperloop เข้าร่วมแข่งขัน SpaceX Hyperloop Pod Competition 2020
การรวมทีมของนักศึกษาไทยเพื่อสร้างต้นแบบ Hyperloop เข้าร่วมแข่งขันรายการ SpaceX Hyperloop Pod Competition ในปี 2020 ที่จัดขึ้นโดยบริษัท SpaceX ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการแข่งขันพัฒนาต้นแบบ Hyperloop ที่มีมหาวิทยาลัยและทีมอิสระจากทั่วโลกเข้าร่วมทำการแข่งขัน
การรวมทีมในครั้งนี้เกิดขึ้นจากนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยที่มีความชื่นชอบเทคโนโลยี Hyperloop เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2562 โดยความอนุเคราะห์สถานที่จาก The Knowledge Exchange: KX มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทีมนักศึกษาประกอบด้วยนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เช่น วิศวกรรมโครงสร้าง (Structure) วิศวกรรมไฟฟ้า (Control and Electronic) และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เทคโนโลยี Hyperloop เป็นรูปแบบการขนส่งยุคใหม่เป็นคลื่นลูกที่ 5 ถัดจากเรือ รถไฟ รถยนต์และเครื่องบิน แนวคิดเทคโนโลยี Hyperloop ยุคใหม่ถูกนำเสนอครั้งแรกในเอกสาร Hyperloop Alpha โดยอีลอน มัสก์และทีมวิศวกรของบริษัท SpaceX เมื่อปี 2013 เทคโนโลยี Hyperloop เป็นการนำแนวคิดของรถไฟฟ้าพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า แรงดันอากาศและท่อสูญญากาศมาประยุกต์ทำงานร่วมกันด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากปราศจากแรงต้านของอากาศทำให้ Hyperloop ที่เดินทางในท่อสูญญากาศสามารถทำความเร็วได้มากกว่า 1,236 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะลุอัตราความเร็วเหนือเสียง (Supersonic speed) ทำความเร็วได้มากกว่าทุกรูปแบบการขนส่งในปัจจุบัน
การแข่งขัน SpaceX Hyperloop Pod Competition เกิดขึ้นจากอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งและบริหารบริษัท SpaceX ต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop บริษัท SpaceX เปิดโอกาสให้ทีมจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมไปถึงทีมอิสระจากทั่วโลกส่งผลงานต้นแบบเข้าร่วมคัดเลือกเข้าแข่งขันโดยทีมงานบริษัท SpaceX จะเป็นผู้คัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดเข้าร่วมแข่งขันวิ่งในท่อสูญญากาศ (Test track) ความยาวประมาณ 1.6 กิโลเมตรบริเวณสำนักงาน SpaceX ประเทศสหรัฐอเมริกา
อ่านเพิ่มเติม : Hyperloop Pod Competition การแข่งขันพัฒนา Hyperloop โดยบริษัท SpaceX
การแข่งขันในรายการนี้จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2016 มีทีมต่าง ๆ จากทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขันหลายทีมประสบความเร็จในการแข่งขันและสามารถก่อตั้งเป็นบริษัทเทคโนโลยี Hyperloop โดยเฉพาะ เช่น ทีม Delft Hyperloop จากมหาวิทยาลัย Delft University of Technology ประเทศเนเธอแลนด์ที่ก่อตั้งบริษัท Hardt Hyperloop สำเร็จและบริษัทอยู่ในช่วงการระดมทุนจากรัฐบาลรวมไปถึงบริษัทเอกชนเพื่อก่อสร้างต้นแบบระบบขนส่ง Hyperloop ความยาวประมาณ 5 กิโลเมตรในเมืองเฟลโวลันด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์
หากต้นแบบ Hyperloop ของทีมจากประเทศไทยได้รับการคัดเลือกโดยบริษัท SpaceX ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของเทคโนโลยีระบบขนส่งโลกอนาคต Hyperloop ในประเทศไทยที่ควรได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อนำธงไตรรงค์ไทยไปโบกสะบัดบนเวทีการแข่ง Hyperloop ที่บริษัท SpaceX ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นชาติแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนและทีมลำดับที่ 3 ในทวีปเอเชีย
ภาพการรวมทีมของนักศึกษาไทยเพื่อสร้างต้นแบบ Hyperloop
เรียบเรียงโดยทีมงาน nextwider.com