ชวนดูหนังแบบคอไซไฟ – Starwars(1977 ถึงปัจจุบัน)
หากจะมีหนังเรื่องใดควรหยิบมาเป็นกรณีศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ภาพยนตร์ หรือแม่แบบ‘หนังแห่งสินค้าแฟรนไชส์’ คงไม่มีเรื่องไหนเหมาะไปกว่าสตาร์วอร์ส เช่นเดียวกับหัวข้อปริทรรศน์ที่น่าตื่นเต้นพอๆ กัน คือหากมีหนังเรื่องใดที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นทั้งในทางปฏิบัติ(สำหรับสตูดิโอหนัง)และในเชิงประจักษ์(สำหรับผู้สังเกตการณ์)อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด ก็คงเป็นหนังเรื่องนี้
บรรยากาศสังคมของสหรัฐอเมริกากลางทศวรรษที่ 1970 อาจเปิดรับเรื่องแนวจินตนาการเพ้อฝัน จรรโลงความหวังและเชิดชูความดีงาม แต่ถ้าสตาร์วอร์สจะออกแบบงานสร้างและเนื้อหาเพียงเพื่อตอบโจทย์ตลาดร่วมสมัย มันก็คงตายดับไปก่อนที่จะถูกส่งต่อข้ามยุคสมัยอย่างที่เห็น และด้วยความที่มันเป็นแม่แบบของการตลาดที่ส่งอิทธิพล จึงยากจะหนีพ้นข้อสังเกตที่ว่ากองทัพสินค้าจากหนังคือสิ่งที่ชักจูงให้‘หน้าใหม่’ก้าวเข้ามาทำความรู้จักมากกว่าจะมาจากคุณค่าโดยบริบทของภาพยนตร์เอง หากแต่มุมมองซึ่งเฉียดๆ เป็นการดูแคลนนี้อาจบดบังข้อเท็จจริงที่ว่าตุ๊กตุ่นและแบบจำลองยานอวกาศไม่ได้ช่วยยกระดับสถานะของคนที่เรียกตัวว่าเป็น‘สาวก’แต่อย่างไร – แล้วเสน่ห์อื่นใดเล่าที่ดึงดูดผู้คนให้มาเป็นแฟน?
ก่อนการมาถึงของReturn of the Jedi(1983) อาจกล่าวได้ว่าทุกช่องว่างระหว่างบรรทัดยังอยู่ใต้บงการของจอร์จ ลูคัส ในฐานะผู้ประพันธ์ แต่หลังจากไตรภาคเดิม(original trilogy หรือepisode IV /V /VI)จบบริบูรณ์ มันก็ไม่อยู่ในวิสัยใดๆ ของลูคัสอีกต่อไป ด้วยถึงแม้จะมีการเติมเต็มเส้นเรื่องในสื่อรูปแบบอื่นๆ (นิยาย เกม หนังทีวี ฯลฯ)ตามออกมาซึ่งล้วนแล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากคนผู้เดียว ทว่าเขาไม่อาจก้าวล่วงการเปิดรับหรือปฏิเสธจากแฟนๆ
แม้แต่กับไตรภาคต้น(prequel trilogy – episode I /II /III)ที่ในภาพรวมยังเป็นเค้าโครงเรื่องเดิมจากบทร่างฉบับแรกๆ ของลูคัส และเพิ่มการอ้างอิงพล็อตบางส่วนจากนิยายชุดซึ่งเป็นที่นิยมหลังจากหนังไตรภาคเดิมสิ้นสุดลงเสริมเข้าไปแต่โดยหลักการแล้วมันจะเป็นเพียงแค่การขยายขอบเขตพื้นที่ให้กว้างไกลออกไป(นอกเหนือจากเหตุผลและความคาดหวังในเชิงเศรษฐศาสตร์) และตัวละครใหม่ๆ หุ่น ยาน รวมถึงฉากเทคนิคใหม่ๆ จะไม่มีวันเป็นที่จดจำ – หรืออย่างน้อยคือถูกจดจำว่าอยู่ในหนังเรื่องใด หากคนทำหนังละทิ้งจิตวิญญาณสำคัญที่เขาเพียรบ่มเพาะจนงอกเงยสวยงาม และยังเติบโตกระทั่งในระหว่างเกือบๆ สองทศวรรษอันว่างเว้นระหว่างไตรภาคทั้งสอง – สิ่งที่รู้จักกันในนาม ‘พลัง’
จำนวนตอนที่เพิ่มเป็นหก ทำให้ประเด็นเรื่องพลัง(force)ถูกขยายความขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการแปรนามธรรม(คำสอนของอาจารย์ ความรู้สึกสัมผัส)มาเป็นรูปธรรม(การฝึกฝน การสำแดงพลัง การเข้าถึงความหมายแท้จริง) และในที่สุดถูกยกระดับให้กลายเป็นแรงขับดันในการเดินเรื่อง สวมทับลงรอยกับที่ตัวละครผู้มีพลังสถิตจะตระหนักแก่ใจว่า สิ่งใดที่ผลักดันวิถีชีวิตให้ดำเนิน
ในไตรภาคเดิมซึ่งจักรวรรดิรุ่งเรืองและแผ่ขยายอำนาจ ฝ่ายกบฏและกลุ่มต่อต้านอาจนำทัพโดยผู้นำซึ่งทราบกันภายหลังว่ามีกระแสพลังไหลเวียนอยู่ในตัว ทว่าพระเอกวีรบุรุษเพียงคนหรือสองคนคงไม่โดดเด่นไปกว่ากองกำลังที่ร่วมแรงใจเป็นหนึ่งเดียวในห้วงเวลาปฏิวัติการปกครอง ต่างจากยุครุ่งเรืองของพลังในไตรภาคต้น ที่มีสภาซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มผู้มีพลังสถิต มีโรงเรียนฝึกสอน ออกกฎบัญญัติต่างๆ เพื่อยกระดับจารีต ผู้มาก่อนจะออกค้นหาผู้มีพลังรายใหม่ ผู้มีพลังสถิตในระดับแรงกล้าจะเป็นที่หมายตา ก่อนจะถูกคาดหวังให้เข้าร่วมและกระทำสิ่งยิ่งใหญ่สำคัญในกาลข้างหน้า จนปรากฎสิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองยุคจากสองไตรภาค สิ่งที่เป็นสาระสำคัญที่สุดแต่บางครั้งผู้ใช้พลังก็หลงลืมหรือมองข้าม นั่นคือเมื่อถึงจุดหนึ่ง พลังจะค้นหาสมดุลของมัน และเมื่อนั้น ไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์
นี่เองคือความเย้ายวนที่ชวนให้หลงใหล ลูคัสนำเรื่องราวยิ่งใหญ่จากจักรวาลไกลโพ้นมาสู่โลกนี้ในวันปัจจุบันโดยที่ไม่สำแดงตนว่ารู้ทุกสิ่งหรือรอบคอบในทุกรายละเอียด เขาปล่อยให้ช่องว่างเป็นอิสระจากบริบท และถูกเติมเต็มได้โดยตัวมันเองหรือตามความต้องการของผู้รับสาร การจำกัดบทบาทตนเองไว้เพียงในฐานะ‘ผู้เล่าเรื่อง’เช่นนี้ คือเหตุผลที่ทำให้เขาได้รับมอบความนับถือจากแฟนหนังเต็มหัวใจ
หรือมองอีกมุม อนาคตที่ยังดูสว่างไสวของแฟรนไชส์ ส่วนหนึ่งนั้นอาจจะมาจากการประกอบหลอมรวมของพลังสองฝั่งคือผู้สร้างและแฟนหนังก็เป็นได้ ดังนั้นหากคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งจากฝ่ายหลัง จะสามารถบอกกล่าวบันทึกสิ่งใดถึงอนาคตที่กำลังมาเยือนในนามของไตรภาคสุดท้าย(ไม่นับความเป็นได้ของหนังภาคพิเศษที่น่าเกรงขาม) จากบงการของคนทำหนังรายใหม่ซึ่งไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดแท้ ก็คงขอพูดในทำนอง ไม่ว่าจะฝักใฝ่ในด้านมืดหรือมุ่งมั่นในด้านสว่างก็ตาม ขอจงอย่าละเลยสมดุล
เพราะเราต่างก็ตระหนักว่า สมดุลคือสิ่งที่จะทำให้พลังสถิตอยู่กับหนังเรื่องนี้ ตลอดไป