ชวนดูหนังแบบคอไซไฟ – Star Trek (1966 ถึงปัจจุบัน)
จุดกำเนิดประวัติศาสตร์การท่องอวกาศห้วงลึกในเรื่องสตาร์เทร็คนั้น กว่าจะถูกประดิดประดอยขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม(ไม่ใช่เพียงการเกริ่นนำด้วย ประโยคบอกเล่า) เวลาในโลกแห่งความเป็นจริงก็ผ่านไปถึงสามสิบปีนับจากการแพร่ภาพตอนปฐมฤกษ์ เมื่อภาพยนตร์ตอนที่ 8 – Star Trek : First Contact (1996) ได้เปิดเผยว่า
มันคือห้วงเวลาหลังจากที่สงครามล้างโลกได้คร่าสรรพชีวิตและมนุษย์จนแทบสิ้นเผ่าพันธุ์ แต่แล้วภายในสิบปีหลังจากนั้น เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยความไวเหนือแสงหรือ warp ก็ถูกคิดค้นและทดลองใช้ จนกระทั่งมนุษย์ต่างดาวเผ่าพันธุ์หนึ่งซึ่งมีอารยธรรมรุ่งเรืองและก้าวล้ำกว่า(มนุษย์โลกจึงไม่เคยรับรู้ว่ามีตัวตน) ได้ลงความเห็นกันว่าถึงเวลาแล้วที่จะทำการ’ปฏิสัมพันธ์’ด้วย และแล้วอีกเพียงศตวรรษเดียวหลังจากนั้น โลกก็ได้ร่วมเป็นหนึ่งในภาคีก่อตั้งองค์กรผดุงรักษาความสงบสันติระหว่างหมู่ดาวในนาม ‘สหพันธ์ดวงดาว’ (United Federation of Planets)
ซีรีส์ชุดแรก(หรือที่เรียกว่า The Original Series)ออกอากาศในปี 1966 และประสบความสำเร็จทันที กระทั่งเหมือนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวเฉพาะสำหรับประชาชนอเมริกันโดยทั่วไป ลำพังแค่ปัญหาการเมืองซึ่งอ้างอิงกับการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม และความพยายามของรัฐบาลที่จะยื่นมือเข้าไปร่วมทำสังฆกรรมต่อต้าน ก็เพียงพอแล้วที่จะกดดันให้ผู้คนโหยหาสิ่งที่จะช่วยให้ตัวเองหลุดพ้นไปจากความอึดอัดคับข้อง
ด้วยนัยนี้ ยานเอนเตอร์ไพรซ์ก็คือเจตจำนงเสรีที่อยู่เหนือกรอบจำกัดของระบบนั่นเอง ในส่วนของผู้สร้างหนัง โดยเฉพาะกับผู้อำนวยการสร้างและเขียนบทผู้ให้กำเนิดอย่าง ยีน ร็อดเดนเบอรรี นี่คือสิ่งที่เปิดโอกาสให้เขาได้ตั้งข้อสังเกตต่อสังคมร่วมสมัยในบริบทต่างๆ ได้เท่าที่วิสัยทัศน์จะเอื้ออำนวย ดังจะเห็นได้ว่านอกจากแง่เทคโนโลยีล้ำสมัยที่มักได้รับการเอ่ยอ้างว่ากลายมาเป็น‘ต้นแบบความคิด’ของอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันหลายๆ อย่าง ยังมีประเด็นเรื่องจิตวิทยาบุคคลที่จับใจ เป็นต้นว่าการออกแบบสร้างให้โครงสร้างบุคลากรมีความยืดหยุ่นสูง เช่นให้ลูกเรือคนที่เหมาะสมขึ้นเป็นกัปตันแทนที่ได้ หากคนก่อนหน้าสูญเสียความสามารถในงานบังคับบัญชา ,การให้ตัวละครเพศหญิงมีตำแหน่งในระดับสูง และที่ลืมไม่ได้ – จูบข้ามสีผิวครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทีวีอเมริกา ระหว่างกัปตันเจมส์ ที. เคิร์ก และอูฮูร่า
แต่คงจะไม่ถูกเสียทีเดียวหากจะพิจารณาแค่ในบริบทข้างต้น เพราะเมื่อย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดที่เพิ่งได้รับการบอกเล่าไม่นาน จะพบการทำนายอนาคตแบบที่นิยายวิทยาศาสตร์มักกระทำ ในกรณีนี้ก็คือ หากมนุษย์ไม่ได้รับโอกาสให้ละลายพฤติกรรมขนานใหญ่ เราก็จะยังคงรบราฆ่าฟันกันไปไม่รู้จบ หากแต่ตลกร้ายเสียดสีที่แฝงไว้คือ โอกาสใหม่นั้นไม่อาจมาจากคนเราด้วยกันอีกต่อไป หากแต่ควรเป็นจากใครก็ตามที่อยู่นอกเหนือความรู้หรือความเข้าใจเดิมๆ หรือพูดให้ชัด – จากคนที่จะสามารถสอนเราไม่ให้ปล่อยให้ตรรกะเหตุผล ตกต่ำกว่าอารมณ์ความรู้สึกจนมีค่าเท่ากับศูนย์
และสโลแกนที่เป็นเหมือนประโยคทองคำประจำเรื่อง(หรือในอีกชื่อเรียกสละสลวยว่า‘คำปฏิญาณของกัปตัน’ หรือ The Captain’s Oath*) ที่ช่วยย้ำเตือนถึงหัวใจที่เป็น‘จุดขาย’ของหนังชุดนี้ นั่นก็คือ การมองย้อนกลับเข้ามา จากจุดที่อยู่ไกลออกไป เป็นสิ่งที่ทำให้หนังชุดนี้ไม่มีวันหล่นหายไปจากการสำรวจของยุคสมัย
เพราะประวัติศาตร์อันยาวนานของหนังทีวีและภาพยนตร์ชุดสตาร์เทร็คนั้น มีปรัชญาอันเรียบง่ายแฝงไว้ นั่นคือความใฝ่ฝันถึงวันที่มนุษยชาติเปลี่ยนใจหันหน้าเข้าหา แทนที่จะประหัตประหาร
———————————
*หมายเหตุ
คือบทนำที่กล่าวว่า – Space: the final frontier. These are the voyages of the starship Enterprise. Its five-year mission: to explore strange new worlds, to seek out new life and new civilizations, to boldly go where no man has gone before. (หรือ – อวกาศ พรมแดนสุดท้าย นี่คือภารกิจห้าปีของยานสตาร์ชิพเอนเตอร์ไพรส์ เพื่อการสำรวจโลกใหม่ เพื่อการค้นหาซึ่งรูปแบบชีวิตและอารยธรรมใหม่ เพื่อการท่องไปอย่างหาญกล้า สู่ที่ซึ่งไม่เคยมีใครไปเยือนมาก่อน)