ยาน Starship จากบริษัท SpaceX ฉบับสมบูรณ์

ยาน Starship ยานอวกาศรุ่นใหม่ล่าสุดจากบริษัท SpaceX เปิดตัวครั้งแรกในงานประชุม International Astronautical Congress (IAC) จัดขึ้นที่เมืองแอลิเลดประเทศออสเตรเลีย ยาน Starship ใช้จรวด Super Heavy ในการเดินทางขึ้นสู่อวกาศ จรวดรุ่นนี้เป็นจรวดมีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มยานของบริษัท SpaceX ซึ่งประกอบด้วยจรวด Falcon 1 , Falcon 9 และ Falcon Heavy

ยาน Starship ถูกพัฒนาขึ้นมาจากแนวคิดระบบขนส่งระหว่างดาวเคราะห์ Interplanetary Transport System หรือ ITS ที่อีลอนมัสก์นำเสนอเมื่อปีที่ผ่านมา ยาน Starship ถูกออกแบบมาให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานตามภารกิจที่หลากหลาย เช่น ภารกิจขนส่งมนุษย์ข้ามทวีป Earth to Earth ภารกิจขนส่งดาวเทียมขนาดใหญ่ ภารกิจเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ภารกิจดวงจันทร์และภารกิจอาณานิคมบนดาวอังคาร การเปิดยาน Starship มีขึ้นหนึ่งวันหลังวันครบรอบ 9 ปีที่บริษัท SpaceX ประสบความสำเร็จในการส่งจรวด Falcon 1 พร้อมดาวเทียมต้นแบบน้ำหนัก 165 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจรของโลก

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับยาน Starship

ยาน Starship จรวดผลักดัน (Booster) เรียกว่าจรวด Super Heavy ความสูงประมาณ 68 เมตรใช้เครื่องยนต์ Raptor Engines จำนวน 37 ตัว จรวดผลักดันนี้สามารถเดินทางกลับมาลงจอดบนโลกในลักษณะเดียวกับจรวด Falcon 9 และจรวด Falcon Heavy

ยาน Starship มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 9 เมตรสูงประมาณ 50 เมตรใช้เครื่องยนต์ Raptor Engines จำนวน 6 ตัวโดยแบ่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักที่ใช้ในอวกาศ 4 ตัวและเครื่องยนต์รองที่ใช้สำหรับลงจอด 2 ตัว เครื่องยนต์ของยานอวกาศ (Spaceship) ใช้พลังงานมีเทน อ๊อกซิน้ำหนัก 240 ตันและออกซิเจนเหลวน้ำหนัก 860 ตัน สามารถบรรทุกนักบินอวกาศพร้อมผู้โดยสารได้ประมาณ 100 คน แบ่งห้องโดยสารออกเป็น 40 ห้องพร้อมพื้นที่รวมสำหรับทำกิจกรรมร่วมกันในอวกาศ โดยขนาดของห้องโดยสารทั้งหมดรวมกันมีพื้นที่ใหญ่กว่าเครื่องบิน A380 สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกรวมกว่า 150 ตัน

จุดเด่นของยาน Starship คือ ขีดความสามารถในการบรรทุกและการนำจรวดกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าจรวด Falcon Heavy รวมไปถึงความสามารถในการเติมเชื้อเพลิง (Refilling) ในระหว่างที่โคจรอยู่ในอวกาศ โดยการนำยาน Starship สองลำเชื่อมต่อกันเพื่อลดต้นทุนการขนส่งอวกาศในแต่ละภารกิจและยานเดินทางออกไปยังดวงจันทร์และดาวอังคารได้

อย่างไรก็ตามเมื่อยาน Starship พัฒนาเสร็จสมบูรณ์บริษัทยังใช้งานจรวด Falcon 9 , Falcon Heavy และยาน Dragon 2 ควบคู่กับยาน Starship ไปอีกระยะหนึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า บริษัท SpaceX ได้เริ่มต้นพัฒนายาน Starship มาได้ระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปี 2018 โดยใช้ศูนย์พัฒนาจรวด Boca chica รัฐเท็กซัสและศูนย์พัฒนาจรวดรัฐฟลอริดา

เปรียบเทียบขนาดจรวด ​Falcon 1 , Falcon 9 , Falcon Heavy และจรวด BFR
เปรียบเทียบขนาดจรวด ​Falcon 1 , Falcon 9 , Falcon Heavy และยาน Starship
ภาพอธิบายส่วนประกอบของยาน Starship ส่วนที่เป็นยานอวกาศ
การเติมเชื้อเพลิง Refilling ระหว่างยาน Starship สองลำขณะโคจรอยู่ในอวกาศ

ภารกิจส่งดาวเทียมขนาดใหญ่และเชื่อมต่อสถานีอวกาศนานาชาติ

ยาน Starship สามารถบรรทุกดาวเทียมหรือชิ้นส่วนสถานีอวกาศขนาดใหญ่น้ำหนัก 150 ตันในขณะที่จรวด Falcon Heavy บรรทุกน้ำหนักได้ 30 ตัน จรวด BFR สามารถบรรทุกกล้องโทรทัศน์อวกาศที่มีกระจกขนาดใหญ่กว่ากล้องฮับเบิล 3 เท่า รวมไปถึงภารกิจเพื่อทำลายดาวเทียมขนาดใหญ่ที่หมดอายุการใช้งาน ส่วนการเชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้แขน Canadarm2 ช่วยประคองจรวด สามารถขนส่งทรัพยากรและอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ได้ในปริมาณมาก

ยาน Starship เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS
ยาน Starship สามารถขนส่งดาวเทียมขนาดใหญ่ขึ้นสู่วงโคจรของโลก

ภารกิจสร้างฐานบนดวงดวงจันทร์

ยาน Starship มีขีดความสามารถมากพอที่จะส่งมนุษย์ขึ้นไปบนดวงจันทร์และเดินทางกลับโลกโดยไม่จำเป็นต้องเติมเชื้อเพลิงบนดวงจันทร์โดยยาน Starship จะใช้การเดิมเชื้อเพลิงในขณะโคจรอยู่บนอวกาศ

การลงจอดบนดวงจันทร์บริษัท SpaceX จะใช้ชื่อฐานบนดวงจันทร์ว่า “Moon Base Alpha” ซึ่งเป็นชื่อของซีรีย์ดังเรื่อง Space: 1999 ที่ฉายทางทีวีในช่วงปี 1975-1977 ก่อนหน้านี้บริษัท SpaceX ได้เปิดเผยโครงการส่งยาน SpaceX Dragon 2 ไปโคจรรอบดวงจันทร์ในปี 2018 โดยยาน SpaceX Dragon 2 กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาใกล้เสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายปี 2017

แผนภาพอธิบายภารกิจดวงจันทร์ของยาน Starship
ภาพจำลองฐานบนดวงจันทร์ “Moon Base Alpha”

ภารกิจอาณานิคมดาวอังคาร

“ตอนเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยผมเคยคิดว่าจะมีอะไรที่มีผลกระทบต่อมนุษยชาติ ผมพบว่ามี 3 เรื่อง อินเตอร์เน็ต การมีโลกที่มนุษย์ใช้อยู่อาศัยมากกว่าหนึ่งและเรื่องพลังงานหมุนเวียน” อีลอนมัสก์ผู้ก่อตั้งบริษัท SpaceX กล่าวถึงภารกิจแห่งชีวิตของเขาในสารคดีเรื่อง The Tesla Motors Documentary ทางช่อง National Geographic

การเดินทางไปดาวอังคารเป็นสิ่งที่อีลอนมัสก์ผู้ก่อตั้งบริษัท SpaceX มักพูดถึงอยู่เสมอการมีโลกสำหรับมนุษย์มากกว่า 1 แห่งเป็นความมุ่งมั่นสูงสุดของอีลอนมัสก์ ยาน Starship ถูกออกแบบมาเพื่อภารกิจอาณานิคมดาวอังคารโดยภารกิจแรกที่อีลอนมัสก์นำเสนอ คือ การส่งยาน Starship อย่างน้อย 2 ลำไปดาวอังคารในปี 2022 โดยวัตถุประสงค์ของภารกิจแรกนี้เพื่อสำรวจทรัพยากรณ์น้ำและแร่ธาตุรวมถึงทดสอบระบบสนับสนุนการดำรงชีวิต

ส่วนภารกิจที่สองนั้นบริษัท SpaceX จะส่งยาน Starship ไปทั้งหมด 4 ลำในปี 2024 โดยจรวดสองลำแรกจะบรรทุกมนุษย์ทีมสำรวจวิศวกรและจรวดอีกสองลำจะบรรทุกอุปกรณ์สร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจรวด แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์และอุปกรณ์ดำรงชีพต่าง ๆ เพื่อก่อสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร (อย่างไรก็ตามแผนการอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความคืบหน้าของโครงการ)

จากการค้นพบน้ำบนดาวอังคารเมื่อปี 2015 ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดการว่ามนุษย์อาจสามารถสร้างพลังงานให้จรวดจากการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารมาทำปฏิกิริยากับน้ำซึ่งประกอบด้วยออกซิเจนและไฮโดรเจน ผลลัพท์ที่ได้คือออกซิเจนและมีเทนซึ่งสามารถใช้เป็นพลังงานให้กับเครื่องยนตร์จรวด Raptor Engines เดินทางกลับโลกหรือเดินทางไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะจักรวาล

แผนภาพอธิบายภารกิจดาวอังคารของยาน Starship
อาณานิคมดาวอังคารตามแผนการของบริษัท SpaceX

ภารกิจขนส่งมนุษย์ข้ามทวีป Earth to Earth

ภารกิจขนส่งมนุษย์ข้ามทวีป Earth to Earth ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนิยมการเดินทางข้ามทวีปของมนุษยชาติจากเดิมที่ต้องใช้เวลาบนเครื่องบินโดยสารเป็นเวลานานการเดินทางด้วยยาน Starship สามารถช่วยลดเวลาให้การเดินทางไปทุกที่บนโลกเกิดขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ส่วนประเทศที่อยู่ไม่ไกลกันมากจะใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 30 นาที เช่น กรุงเทพไปดูไบใช้เวลา 27 นาที ลอนดอนไปนิวยอร์กใช้เวลา 29 นาที ยาน Starship จะเดินทางด้วยความเร็ว 27,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนวงโคจรของโลกผู้โดยสารทุกคนจะได้สัมผัสสภาพไร้น้ำหนักก่อนเดินทางกลับโลกไปยังประเทศปลายทาง

บริษัท SpaceX ออกแบบให้จรวด BFR ขึ้นลงโดยใช้ฐานปล่อยจรวดกลางทะเลโดยจรวดสามารถเติมเชื้อเพลิงจากฐานปล่อยจรวดกลางน้ำก่อนขนส่งผู้โดยสารในเที่ยวถัดไป

“ทุกการเดินทางไปบนโลกที่ทุกคนคิดว่าไกลจะสามารถเกิดขึ้นได้ภายในเวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมง”
อีลอนมัสก์ผู้ก่อตั้งบริษัท SpaceX กล่าวเพิ่มเติมในงานประชุม International Astronautical Congress (IAC)

ภารกิจขนส่งมนุษย์ข้ามทวีป Earth to Earth

แผนการทั้งหมดของบริษัท SpaceX ที่อีลอนมัสก์นำเสนอดูเหมือนหลุดออกมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ยุค 80 แต่ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและมีความเป็นไปได้ สื่อมวลชนทั่วโลกให้ความสนใจยาน Starship และชื่อของอีลอนมัสก์กำลังกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงแห่งในวงการเทคโนโลยีของศตวรรษนี้ อีลอนมัสก์กำลังฉีกทุกกลยุทธ์ทางการตลาดที่บริษัทอื่น ๆ เคยทำมาเพราะอีลอนมัสก์ใช้วิธีสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักก่อนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทิ้งห่างเทคโนโลยีของบริษัทคู่แข่งอย่างได้ผล แต่หากเทียบกับช่วงเวลาที่สั้นในขณะเดียวกับก็มีเดิมพันที่สูง

อีลอนมัสก์มีเวลาแค่ 7 ปีเพื่อส่งมนุษย์คนแรกไปถ่ายแซลฟี่บนดาวอังคาร พร้อมคำถามเกี่ยวกับความต้องการทางด้านตลาด กลุ่มลูกค้ามีมากเพียงพอที่จะทำให้มีคนซื้อตั๋วเที่ยวบินอวกาศราคาแพงเพื่อไปดาวอังคารจนถึงจุดที่บริษัท SpaceX ทำกำไรหรือเปล่า อย่างไรก็ตามบริษัทอาจได้ผลกำไรจากธุรกิจขนส่งมนุษย์ข้ามทวีปรวมถึงภารกิจขนส่งดาวเทียมขนาดใหญ่และภารกิจเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ซึ่งใช้ต้นทุนที่น้อยกว่าภารกิจดวงจันทร์หรือภารกิจดาวอังคาร

ยาน Starship ที่เปิดตัวใหม่นี้ยังคงเป็นแผนการพัฒนาและจะเริ่มสร้างประมาณกลางปี 2018 เชื่อว่าอาจมีการประยุกต์ปรับเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ยินดีต้อนรับทุกทั่นสู่เที่ยวบินดาวอังคาร เรากำลังอยู่ในยุคที่มนุษย์เริ่มแสวงหาดาวเคราะห์ที่ใช้อยู่อาศัยดวงใหม่

ที่มาของข้อมูล
nextwider.com, spaceth.co, techcrunch.com , space.com , inverse.com

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation