เกาหลีใต้มีแผนส่งหุ่นยนต์ไปสำรวจดวงจันทร์ในปี 2020
เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยมีแผนการส่งยานสำรวจไปยังดวงจันทร์ในปี 2020 เกาหลีใต้ใช้ชื่อโครงการว่า Korean Lunar Exploration Program ภายใต้การรับผิดชอบของสถาบันวิจัยอวกาศเกาหลีใต้ (KARI)
เกาหลีใต้จะเป็นผู้พัฒนายานอวกาศและหุ่นยนต์รถสำรวจโดยได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากองค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐอเมริกาหรือนาซ่า ส่วนจรวดผลักดันนั้นแผนการเดิมเกาหลีใต้จะใช้จรวดรุ่น KSLV ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจรวดที่เกาหลีใต้พัฒนาด้วยตัวเอง โดยปล่อยจรวดจากบริเวณศูนย์อวกาศ Naro Space Center บนเกาะนาโร ทางตอนใต้ของเมืองปูซาน ต่อมาเกาหลีใต้เปลี่ยนแผนการไปใช้จรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX
รูปแบบของภาระกิจ Korean Lunar Exploration Program นั้นแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ขั้นตอนด้วยกันประกอบด้วย ขั้นตอนแรกเกาหลีใต้จะส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์เพื่อทำการศึกษาวิจัยและรองรับการติดต่อสื่อสาร ขั้นตอนที่สองเกาหลีใต้จะส่งยานสำรวจลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์และนำหุ่นยนต์สำรวจออกวิ่งบนพื้นที่ผิวดวงจันทร์โดยตัวหุ่นยนต์จะมีเครื่องมือสำรวจแร่ธาตุบนดวงจันทร์
ยานสำรวจดวงจันทร์ของเกาหลีมีเชื่อว่า Korea Pathfinder Lunar Orbiter (KPLO) แบ่งออกเป็นยานลงจอดบนดวงจันทร์และหุ่นยนต์รถสำรวจดวงจันทร์มีน้ำหนักรวมกันประมาณ 550 กิโลกรัม ใช้พลังงานไฟฟ้า ยานถูกติดตั้งอุปกรณ์สำรวจดวงจันทร์เพื่อสำรวจทรัพยากรบนดวงจันทร์ เช่น น้ำแข็ง ยูเรเนียม ฮีเลียม -3 ซิลิคอน และอลูมิเนียม รวมไปถึงการจัดทำแผนที่ภูมิประเทศของดวงจันทร์ส่งกลับมายังประเทศเกาหลีใต้
สถาบันวิจัยอวกาศเกาหลีใต้ (KARI) มีกำหนดการปล่อยยานเดินทางไปดวงจันทร์เดิมในปี 2018 ต่อมาเปลี่ยนกำหนดการใหม่เป็นเดือนธันวาคมปี 2020 ยานใช้วิธีโคจรรอบโลกก่อนเพิ่มระยะห่างออกไปเรื่อย ๆ จนเข้าสู่จุดนัดพบกับวงโคจรของดวงจันทร์ในเดือนมกราคมปี 2021
คลิปแนะนำโครงการ Korean Lunar Exploration Program
ที่มาของข้อมูล
KPLO (Korea Pathfinder Lunar Orbiter) is South Korea’s first lunar mission