Sci-Fi คือ อะไร ?
“ไซ-ไฟ” หรือ บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์, ภาษาอังกฤษ “Science fiction” หรือย่อๆ “Sci-Fi” นั่นเองโดยภาพกว้างๆ ก็คือ เรื่องที่จินตนาการขึ้นมาไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบสื่อใดๆก็ตาม จะเป็น นวนิยาย ภาพยนตร์ การ์ตูน หรือสื่อบันเทิงอื่นๆ ฯลฯ โดยเน้นการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์ วิทยาการ หรือเทคโนโลยีก้าวล้ำ อันส่งผลกระทบต่อบุคคลหรือต่อสังคมโลก หลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาว่า สื่อบันเทิงนั้นๆ มีความเป็นไซ-ไฟ หรือไม่ ? โดยกว้างๆแล้วถ้าหากมีส่วนผสมขององค์ประกอบเชิงวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี อย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 หัวข้อล่างนี้แล้ว ก็พอจะจัดได้เป็น ไซ-ไฟ (แต่จะเป็นไซ-ไฟเข้มข้น หรืออย่างอ่อนๆ ก็เป็นอีกกรณี)
1. วิทยาการ-เทคโนโลยีสุดล้ำ
ได้แก่การมีสิ่งประดิษฐ์หรือ อุปกรณ์เทคโนโลยี-นวัตกรรมล้ำสมัย อาทิระบบคอมพิวเตอร์,หุ่นยนต์, อาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ หรือองค์ความรู้วิทยาการล้ำยุคอย่างนาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม การโคลนิ่ง ปัญญาประดิษฐ(A.I.) เป็นต้น
2. สิ่งมีชีวิตพิเศษเหนือธรรมดาหรือลี้ลับ
อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตประหลาดนอกโลก อาทิ มนุษย์ต่างดาว สัตว์ประหลาดต่างดาวหรือสิ่งมีชีวิตพิเศษที่เกิดขึ้นภายในโลกเอง ซึ่งมักเกิดจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรือการกลายพันธุ์วิวัฒนาการตามธรรมชาติ อันอาจมีพลังอิทธิฤทธิ์พิเศษ หรือแม้ทำนองเป็นสิ่งมีชีวิตลี้ลับมองไม่เห็นตัวตนแต่เป็นรูปแบบพลังงาน หรือวิญญาณ ไปจนถึงกรณีของ พระเจ้า!
3. การเดินทางท่องอวกาศ-ท่องกาลเวลา
การเดินทางออกนอกโลกเพื่อปฏิบัติภารกิจบางอย่าง หรือการสำรวจอวกาศยังต่างดาวอื่นๆหรือแม้กระทั้งการเดินทางผ่านกาลเวลาแบบ ย้อนอดีต ท่องอนาคต หรือมิติคู่ขนาน
4. ระบบสังคม-สิ่งแวดล้อมใหม่แห่งโลกอนาคต
ผลกระทบจากวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีต่อวิถีผู้คนในสังคมหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเชิงสิ่งแวดล้อม/ภัยธรรมชาติ ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง หรือแม้แต่ประเด็นทางศาสนา-ลัทธิความเชื่อ ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นโลกใหม่อันศิวิไลซ์สวยงาม หรือ โลกหม่นหมอง สังคมอันเลวร้ายจากสงคราม โรคภัย ก็สุดแท้แต่
ประเภทของ Sci-Fi
ถ้าหากจะแบ่งประเภทของไซ-ไฟต่างๆแล้ว ในเชิงวิชาการย่อมมีวิธีแบ่งกันได้หลากหลายหมวดหมู่ ก็แล้วแต่ว่าจะใช้เกณฑ์อะไรในการแบ่ง แต่ในที่นี้จะสรุปแบบรวบรัดเข้าใจง่ายที่สุด ขอจัดเป็น 3 ประเภทกว้างๆ โดยพิจารณาจาก กรณีความเข้มข้นของการคำนึงหรือการอ้างอิงหลักความเป็นจริงเชิงวิทยาศาสตร์ ในเรื่องราวของสื่อไซ-ไฟนั้นๆมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ดังนี้
1. Hard Sci-Fi หรือ ไซ-ไฟหนักๆ
Hard Sci-Fi เป็น Sci-Fi ที่มีองค์ประกอบรวมทั้งบรรยากาศต่างๆ ออกมาค่อนข้างสมจริงสมเหตุสมผล ให้ความสำคัญกับการอ้างอิงในหลักการหรือทฤษฎีเชิงวิทยาศาสตร์ตามความเป็นจริงค่อนข้างเคร่งครัดมากเป็นพิเศษ เทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆที่ประกอบในเรื่องจึงน่าเชื่อถือ ทั้งมีแนวโน้มสามารถเป็นไปได้จริงสูง อาทิ เครื่องมือ อุปกรณ์ ยานอวกาศ ยานพาหนะต่างๆ ฯลฯ (แต่กระนั้นต้องไม่ลืมว่า สมจริงยังไงก็ยังเพียงเรื่องที่จินตนาการแต่งขึ้นอยู่นั่นเอง)
Hard Sci-Fi โดยมากอาจไม่เน้นการบู๊แอคชั่นมากนัก มักจะออกแนวดราม่ามากกว่า ทั้งอาจไม่มีนวัตกรรมล้ำหลุดโลกรูปแบบแฟนตาซีตื่นตาตื่นใจ หรือกระทั่งอาจจะไม่มีการปรากฏตัวของมนุษย์ต่างดาว สิ่งมีชีวิตสัตว์ประหลาดใดๆเลย แต่จะไปเน้นที่การนำเสนอแนวคิค การตั้งข้อสังเกต หรือการสะท้อนนัยยะหนักๆ อันเป็นการกระตุ้นความคิดให้ผู้เสพได้ไปจินตนาการต่อเอง ทั้งบางเรื่องอาจมีการนำเสนอที่ออกมาดูล้ำลึกจนเข้าใจยาก เลยเรียกอีกอย่างว่าเป็น “ไซ-ไฟ ปรัชญา” ตัวอย่างภาพยนตร์ไซ-ไฟ ที่นับว่าพอเป็น Hard Sci-Fi อาทิ Metropolis, 2001: A Space Odyssey, Apollo 18, Contact, Moon, Gravity เป็นต้น Hard Sci-Fi จึงอาจเป็นยาขมสำหรับคนทั่วไป แต่เป็นที่ถูกอกถูกใจต่อกลุ่มคนรักแนวไซ-ไฟ จริงๆ
2. Soft Sci-Fi หรือ ไซ-ไฟกลางๆ กึ่งๆแฟนตาซี
ประเภทนี้จินตนาการอาจมีความเป็นไปได้จริงเชิงทฤษฎีวิทยาศาสตร์อยู่พอควร แต่ก็มีความเป็นแฟนตาซีมากขึ้นกว่า Hard Sci-Fi ไปอีกระดับSoft Sci-Fiจึงมีความยืดหยุ่นของบรรยากาศ เนื้อเรื่อง และตัวละคร สามารถใส่ลูกเล่นจินตนาการเพ้อฝันได้มากยิ่งขึ้นด้วย โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักความเป็นจริงอย่างเคร่งครัดเกินไป ตัวอย่างภาพยนตร์ อาทิ Star Gate, Star Trek, Blade Runner,Gattaca, Alien, The Matrix, Inception, Prometheus เป็นต้น ซึ่งมักจะต้องมีฉากแอคชั่น ผจญภัย หรือการปรากฏตัวของมนุษย์ต่างดาว สิ่งมีชีวิตประหลาด กระทั้งเทคโนโลยีรูปแบบหลุดโลกประกอบด้วยบ้างในระดับหนึ่ง อันเป็นสีสันดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี จึงเป็นธรรมดาที่ Soft Sci-Fiค่อนข้างเป็นที่นิยมกว่า Hard Sci-Fi ด้วยมีความสนุกสนานมากกว่า และเข้าใจง่ายกว่านั่นเอง ทั้งบางเรื่องก็ยังคงมีแฝงความลุ่มลึก ให้แง่คิดหนักๆ มีความเป็น ไซ-ไฟปรัชญา อยู่บ้างด้วยเช่นกัน
3. Sci-Fi Fantasy หรือ ไซ-ไฟเพ้อฝันเต็มขั้น
ไซ-ไฟแฟนตาซี เป็นไซ-ไฟที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความถูกต้อง หรือต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้จริงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์มากนัก หรือแทบไม่ต้องคำนึงถึงเลยก็ได้ เรียกว่ามโนกันไปได้เต็มที่ แต่กระนั้นถึงเรียกว่าเพ้อฝัน ในความเป็นไซ-ไฟ ก็ย่อมมีความสมเหตุสมผลในบริบทของเรื่องหรือกฏเกณฑ์ที่อุปโลกน์ขึ้นมาในท้องเรื่องอยู่นั่นเอง (ไม่งั้นก็จะหลุดไปเป็นเประเภทแฟนตาซี เชิงเทพนิยายเวนมนตร์คาถาไป) และก็ไม่ได้หมายความว่าแค่เพ้อฝัน มิอาจเป็นไปได้จริงเลยซะทีเดียว เพราะวิสัยทัศน์ไอเดียหลายๆอย่างในไซ-ไฟแฟนตาซี ก็แปลกใหม่ให้แรงบันดาลใจต่อวิทยาศาสตร์ ส่งผลเป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมในโลกความเป็นจริงในเวลาต่อมาได้มากมาย ไม่แพ้ Hard Sci-Fi หรือSoft Sci-Fi แต่ด้วยความเป็น ไซ-ไฟแฟนตาซี จึงไปเน้นที่การสร้างเรื่องให้สนุกสนานชวนติดตาม ตัวละครมีเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งเน้นฉากบู๊แอคชั่นผจญภัยอลังการเป็นหลักมากกว่า โดยใช้องค์ประกอบ-บรรยากาศของความเป็นวิทยาศาสตร์เป็นเพียงส่วนส่งเสริม ให้มีความโดดเด่นน่าสนใจยิ่งขึ้นเท่านั้น
ภาพยนตร์และสื่อบันเทิงไซ-ไฟส่วนใหญ่จึงมักเป็นประเภท Sci-Fi Fantasy ด้วยมีโอกาสประสบผลสำเร็จในเชิงพาณิชย์มากกว่านั่นเอง อาทิ ภาพยนตร์ดังเป็นที่นิยมทั่วโลก Star Wars, Back to the future,Terminator, Pacific Rim, Godzilla หรือ ภาพยนตร์แนวซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง X-Men, Ironman,Batman,Superman, The Avengers ฯลฯ
ที่มาของบทความ
นักเขียนจากเพจ สนทนาไซ-ไฟ