บริษัทอวกาศเอกชน การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศยุคใหม่
การแข่งขันด้านอวกาศยุคใหม่บริษัทเอกชนหลายบริษัททั่วโลกกำลังพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของตัวเอง การแข่งขันนำไปสู่การพัฒนาและถ้าหากอยู่ในรูปของบริษัทเอกชนมักจะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตามบริษัทเอกชนก็ยังต้องการแรงสนับสนุนจากรัฐบาลในแต่ละประเทศประกอบด้วย ตัวอย่างบริษัทเอกชนด้านอวกาศ เช่น SpaceX , BLUE ORIGIN, Vector Launch, Sierra Nevada Corporation และอีกหลายบริษัทในต่างประเทศ
บริษัท SpaceX ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ก่อตั้งเมื่อปี 2002 ทำธุรกิจด้านขนส่งอวกาศ ปัจจุบันให้บริการขนส่งดาวเทียมที่ใช้ต้นทุนการขนส่งต่ำมากที่สุดในโลก บริษัทมีเทคโนโลยีจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ เช่น Falcon 9 , Falcon Heavy และกำลังพัฒนาจรวดทรงพลังมากที่สุดในโลก BFR ปัจจุบันบริษัท SpaceX ถือว่ามีเทคโนโลยีจรวดที่ทันสมัยมากที่สุด
บริษัท BLUE ORIGIN ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดยเจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีเจ้าของ Amazon.com บริษัททำธุรกิจด้านการขนส่งอวกาศและการท่องเที่ยวอวกาศ ปัจจุบันกำลังพัฒนาจรวด 2 รุ่นด้วยกัน คือ จรวดขนาดเล็ก New Shepard ซึ่งจรวดรุ่นนี้ถูกออกให้ขนส่งนักท่องเที่ยวขึนสู่อวกาศ และจรวดขนาดใหญ่ New Glenn สามารถขนส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจรของโลก
บริษัท Vector Launch ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งในปี 2016 โดยจิม แคนเทรลซึ่งเคยทำงานให้กับบริษัท SpaceX ปัจจุบันบริษัทได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมากโดยบริษัทกำลังอยู่ในช่วงวิจัยพัฒนาจรวด 2 รุ่นด้วยกันประกอบด้วย จรวด Vector F และจรวด Vector H
บริษัท Sierra Nevada Corporation ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งในปี 1963 โดยจอห์น ชิสโฮล์ม ปัจจุบันบริษัทกำลังวิจัยพัฒนายานอวกาสชื่อ Dream Chaser สามารถบรรทุกนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศและเดินทางกลับโลกในลักษณะที่คล้ายกระสวยอวกาศ แม้ว่ายาน Dream Chaser จะมีขนาดเล็กกว่ากระสวยอวกาศแต่สามารถบรรทุกนักบินได้ประมาณ 2-7 คน
บริษัท Boeing ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งในปี 1916 ปัจจุบันบริษัทกำลังพัฒนายานอวกาศ CST-100 Starliner สามารถบรรทุกนักบินอวกาศได้ 7 คนรวมไปถึงพัฒนาจรวดรุ่น Delta นอกจากบริษัทจะทำธุรกิจด้านชิ้นส่วนยานอวกาศ สร้างยานอวกาศ ยังเป็นบริษัทสร้างเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชน์ เครื่องบินรบ และอาวุธ
บริษัท Virgin Galactic ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 2004 เป็นบริษัทในเครือของ Virgin Group ของมหาเศรษฐีริชาร์ด แบรนสัน บริษัททำธุรกิจด้านการขนส่งอวกาศและการท่องเที่ยวอวกาศ บริษัทกำลังวิจัยพัฒนายาน VSS Unity ที่สามารถขนส่งนักบินพร้อมนักท่องเที่ยวอวกาศกลุ่มแรกขึ้นสู่อวกาศเกินที่จะเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัยโดยราคาตั๋วอยู่ที่ประมาณ 250,000 เหรียญต่อหนึ่งที่นั่งหรือประมาณ 8,348,749 บาท ปัจจุบันมีผู้สั่งจองที่นั่งล่วงหน้าหลายร้อยคน
บริษัท OneSpace ประเทศจีน ก่อตั้งโดย Shu Change เป้าหมายของบริษัทคือการเป็นบริษัทให้บริการขนส่งดาวเทียมระดับโลก บริษัทมีแผนการปล่อยดาวเทียม 10 ครั้งในปี 2019 จรวดของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 รุ่นสำคัญ คือ OS-X และ OS-M1, OS-M2 โดยจรวดรุ่น OS-M4 มีขนาดใหญ่มากที่สุดสามารถส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์อวกาศได้ จรวดของบริษัท OneSpace ใช้เชื้อเพลิงแข็งซึ่งแตกต่างจากจรวดของบริษัท SpaceX สหรัฐอเมริกาซึ่งการใช้เชื้อเพลิงแข็งกับจรวดอาจง่ายต่อการสร้างแต่อาจส่งผลให้ไม่สามารถนำจรวดกลับมาใช้งานซ้ำได้ในแบบที่จรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX
บริษัท LANDSPACE ประเทศจีน ก่อตั้งเมื่อปี 2015 กำลังวิจัยพัฒนาจรวด 2 รุ่นด้วยกันประกอบด้วย Zhuque-1 และ Zhuque-2 เป็นบริษัทเอกชนด้านอวกาศรายแรกของจีนที่ได้ทำสัญญากับบริษัทต่างประเทศ บริษัทมีกำหนดการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศในปี 2018 นี้
บริษัท PLD Space ประเทศสเปน ก่อตั้งในปี 2011 ในบริษัทกำลังพัฒนาจรวด Arion 1 สามารถขนส่งดาวเทียมน้ำหนัก 250 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจรมีกำหนดการทดสอบจรวดครั้งแรกในปี 2019 และจรวด Arion 2 สามารถขนส่งดาวเทียมน้ำหนัก 400 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจรของโลกมีกำหนดการทดสอบจรวดครั้งแรกในปี 2021
บริษัท Copenhagen Suborbitals ประเทศเดนมาร์ก ก่อตั้งในปี 2008 เป็นบริษัทที่ไม่หวังผลกำไร บริษัทวิจัยพัฒนาจรวดหลายรุ่น เช่น จรวด HATV, จรวด HEAT 1X, จรวด HEAT 2X, Nexø II และจรวด Spica บริษัทนี้ใช้วิธีปล่อยจรวดบนแท่นกลางทะเล
บริษัท Interstellar Technologies ประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 2003 บริษัทแห่งนี้ทดสอบจรวด MOMO-1 เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาแต่ไม่ประสบความสำเร็จและทดสอบจรวด MOMO-2 ในปี 2018 มีฐานการวิจัยพัฒนาอยู่ที่เกาะฮอกไกโดทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น บริษัทมีเป้าหมายจะส่งทดสอบจรวด ZERO ในปี 2020 จรวดรุ่นนี้สามารถบรรทุกดาวเทียมน้ำหนัก 100-500 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจรของโลก
บริษัท Independence-X Aerospace ประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งโดย Izmir Yamin ในปี 2013 บริษัทแห่งนี้เป็นเคยส่งยานอวกาศเข้าประกวดในรายการ Google Lunar X Prize ในปี 2008 เป็นทีมเดียวจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่ผ่านเข้ารอบประกวด นอกจากการวิจัยพัฒนายานอวกาศบริษัทยังพัฒนาจรวดรุ่น DNLV หรือ Dedicated Nano Launch Vehicle Rocket
บริษัท Gilmour Space Technologies ประเทศออสเตรเลีย ก่อตั้งในปี 2012 บริษัทกำลังวิจัยพัฒนาจรวด RASTA ทดสอบปล่อยจรวดครั้งแรกในปี 2016 จรวดสามารถพุ่งขึ้นสู่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรถือเป็นจรวดลำแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ บริษัทมีแผนการทดสอบจรวดอีกครั้งในปี 2018 นี้และพัฒนาจรวดที่สามารถบรรทุกดาวเทียมน้ำหนัก 400 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจรของโลกในปี 2020
บริษัท mu Space Corp ประเทศไทยทำธุรกิจด้านบริการด้านเครือข่ายผ่านดาวเทียม โทรคมนาคม และการสื่อสารไร้สายในประเทศไทยและในอนาคตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัทมีแผนการเปิดให้บริการด้านท่องเที่ยวอวกาศโดยร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศ บริษัทเป็นพันธมิตรกับบริษัท Blue Origin ได้เซ็นสัญญาส่งดาวเทียมด้วยจรวด New Glenn ในปี 2021 นอกจากนี้บริษัทยังมีเป้าหมายในอนาคตที่จะเป็นผู้ให้บริการปล่อยจรวดรายแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัท Mitsubishi Heavy Industries บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นทำธุรกิจหลายรูปแบบรวมไปถึงพัฒนาจรวด H-IIB เพื่อขนส่งยาน HTV บรรทุกสัมภาระขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS จรวดสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ 8-16 ตัน ใช้ฐานปล่อยจรวด Tanegashima Space Center ในประเทศญี่ปุ่น
ที่มาของข้อมูล
spacex.com, blueorigin.com, vector-launch.com , sncorp.com, boeing.com, virgingalactic.com, onespacechina.com, landspace.com, pldspace.com, copenhagensuborbitals.com, istellartech.com, independence-x.com, gspacetech.com, muspacecorp.com, mhi.com