ยานสำรวจ Curiosity ค้นพบสารอินทรีย์โมเลกุลและฤดูกาลของก๊าซมีเทนบนดาวอังคาร
ยานสำรวจ Curiosity ของนาซ่าที่กำลังปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารในบริเวณที่เรียกว่าปล่อง ‘เกล’ (Gale Crater) ได้ค้นพบสารอินทรีย์โบราณ (Ancient Organic Material) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นเบาะแสสำคัญของการเคยมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตดาวอังคาร นอกจากนี้ยังค้นพบว่าการเกิดก๊าซมีเทนบนดาวอังคารมีลักษณะเป็นฤดูกาล
ค้นพบสารอินทรีย์โมเลกุลบนดาวอังคาร
สารอินทรีย์โมเลกุลที่ยานสำรวจ Curiosity ค้นพบจากการขุดเจาะก้อนหินความลึกประมาณ 5 เซนติเมตรที่คาดว่ามีอายุกว่า 3 พันล้านปี จากการตรวจสอบโดยอุปกรณ์วิเคราะห์ข้อมูลบนยานสำรวจ Curiosity พบว่ามีองค์ประกอบด้วยคาร์บอนและไฮโดรเจนและออกซิเจน ไนโตรเจนและองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งเป็นสารที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต
แม้ว่าสภาพบนผิวดาวอังคารในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตแต่หลักฐานหลายอย่างบริเวณปล่อง ‘เกล’ (Gale Crater) บนดาวอังคารยืนยันว่าสภาพผิวดาวอังคารเมื่อหลายพันล้านปีก่อนมีของเหลวบนผิวดาวซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต
ค้นพบฤดูกาลของก๊าซมีเทนบนดาวอังคาร
ยานสำรวจ Curiosity ค้นพบการเปลี่ยนแปลงของระดับก๊าซมีเทนบนดาวอังคารในชั้นบรรยากาศดาวอังคารขึ้นอยู่กับฤดูกาล (Seasonal Methane Releases) โดยใช้อุปกรณ์ชุดเครื่องมือที่เรียกว่า SAM (Sample Analysis at Mars) ซึ่งสามารถวิเคราะห์สารอินทรีย์และก๊าซจากตัวอย่างทั้งในบรรยากาศและของแข็ง อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสาเหตุของกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร
คลิปการค้นพบครั้งสำคัญบนดาวอังคารโดย NASA JPL
คลิปอธิบายพื้นที่สำรวจปล่อง ‘เกล’ (Gale Crater)
การค้นพบสำคัญเพื่อก้าวต่อไปในการสำรวจดาวอังคาร
ยานสำรวจ Curiosity เป็นยานอวกาศลำที่ 7 ที่สามารถลงจอดบนดาวอังคาร ยานสำรวจ Curiousity ลงจอดบนดาวอังคารบริเวณที่เรียกว่า Aeolis Palus บริเวณปล่อง ‘เกล’ (Gale Crater) เมื่อปี 2012 ปัจจุบันยานเดินทางสำรวจบนผิวดาวอังคารแล้วกว่า 19 กิโลเมตรและยังสามารถปฏิบัติภารกิจต่อไปได้อีกหลายปี
นาซ่ามีกำหนดการส่งยานสำรวจลำใหม่ที่มีลักษณะภายนอกคล้ายกับยาน Curiosity มีชื่อว่ายาน Mars 2020 Rover ลงจอดบนดาวอังคารในปี 2020 ส่วนยานสำรวจอีกลำเป็นขององค์การอวกาศยุโรป ESA มีชื่อว่า ExoMars Rover ลงจอดบนดาวอังคารในปี 2020 เช่นเดียวกัน เพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวอังคารและรอคอยการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ บนดาวอังคาร
ที่มาของข้อมูล
spaceth.co, nasa.gov