ชวนดูหนังแบบคอไซไฟ – The Matrix Trilogy (1999 – 2003)
ครั้งแรกที่นีโอ หรืออดีตนายโธมัส แอนเดอร์สัน พนักงานบริษัทซอฟต์แวร์ ค้นพบว่าโลกที่เขารู้จักมาทั้งชีวิตเป็นเพียง ‘รหัส’ หรือโลกลวงตาที่ถูกสร้างขึ้นโดยระบบจักรกลขนาดใหญ่ และเรียกขานว่าเมทริกซ์ เพื่อกักขังจิตมนุษย์ไว้เพียงให้หล่อเลี้ยงความร้อนของร่างกายซึ่งเป็นแหล่งพลังงานเดียวของมัน – เขาถึงกับอาเจียนและสลบไปในทันที แต่แน่นอนว่าเป็นใครก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน เมื่อถูกบีบให้ต้องขบคิดคำถามที่ไม่เคยกระทั่งผ่านเข้ามาในหัว อย่างเช่น หากทั้งหมดนี้ล้วนลวงตา แล้วจริงแท้คืออะไร?
นวัตกรรมทางเทคนิคภาพยนตร์อาจมีส่วนทำให้ เดอะ เมทริกซ์ ประสบความสำเร็จมโหฬาร (หนังภาคแรกทำเงินทั่วโลกกว่า 463 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนสร้าง 63 ล้านเหรียญฯ) แต่เหตุผลแท้จริงของปรากฏการณ์ ตั้งแต่เป็นหัวข้อสนทนาตามเว็บบอร์ดภาพยนตร์ไปจนถึงห้องเรียนในมหาวิทยาลัย คือการที่มัน‘ย่อย’ความหลากหลาย(และซับซ้อน)ทางแนวคิดในตำราปรัชญาและอภิปรัชญา แล้วคลี่คลายออกมาเป็นไวยากรณ์หนังอย่างลื่นไหล ตรง จับใจ และที่สำคัญมันแปลก‘ฮอลลีวู้ด’จนน่าตกใจ
ขยายความคือ สารสาระซึ่งแต่เดิมมักพบเห็นเฉพาะในการ์ตูนญี่ปุ่น(หรือในหนังไซไฟตะวันตกบางเรื่องก่อนหน้าที่แตะต้องประเด็นคล้ายกันนี้แบบเลียบๆ เคียงๆ แต่ไม่อาจแตะระดับน่าจดจำ) เมื่อมาอยู่ในหนังที่เข้าถึงตลาดวงกว้างกว่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนทำหนัง(ในนามพี่น้องวาชาวสกี้)ซึ่งประกาศตัวว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้อนิเมะไซไฟ ทำให้ข้อจำกัดหรือประเด็นเฉพาะทางถูกทำลาย จึงไม่แปลกถ้าหนังจะถูกยกย่องให้เป็นนวัตกรรม
ไคลแม็กซ์แรกเกิดขึ้นเมื่อนีโอพบว่าตนเองคือผู้กอบกู้ตามคำนายของนักพยากรณ์ – ซึ่งเป็นโปรแกรมหนึ่งในระบบ และถูกคาดหวังจากบรรดาเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ปลดแอกมนุษยชาติจากการครอบงำของจักรกล ดังนั้นเท่ากับว่าหากเขาเชื่อตามนี้ย่อมไม่อาจหนีพ้นบงการของโปรแกรม หรือก็คือเครื่องจักร จุดคลี่คลายที่ว่า ‘เรื่องรัก’ คือคำตอบของทุกอย่างอาจมาพร้อมกับคำครหาในตอนจบของภาคแรก แต่หลังจากที่มันถูกยกระดับเป็นพล็อตหลักในภาคถัดๆ มา และปูทางไปสู่คำตอบอันกระจ่างแจ้งของคำถามใหญ่ที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น ในแง่ไอเดียพล็อตมันจึงเอ่ยอ้างเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า หนังนวัตกรรมนั้นไม่ได้เป็นคำยกย่องกันเกินไป
อธิบายคร่าวๆ ก็คือ ตรินิตี เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่านีโอคือ ‘เดอะ วัน’ หากยึดมั่นตามคำนาย(โดยระบบจักรกล)ที่ว่าเธอจะตกหลุมรักกับผู้กอบกู้ ซึ่งขัดแย้งกับมุมมองของผู้ที่ ‘อาจจะเป็นเดอะ วัน’ ว่าตัวเขาก็ย่อมอยากจะหลุดพ้นจากการบงการ/ชี้นำใดๆ จากระบบฯ แม้ขณะนี้ นีโอได้พัฒนาตนไปถึงขั้นสามารถมองเห็นทุกสิ่งรอบตัวเป็น ‘รหัส’ แบบที่คนอื่นๆ จะเห็นแค่เมื่อมองกลับเข้าไปในเมทริกซ์ ความจริงที่ซับซ้อนและยากอธิบายยิ่งกว่าจึงตามติดมาในทันที ความจริงที่ว่า เขายังคงติดอยู่ในเมทริกซ์
ความสับสนนี้เองที่ทำให้ไม่อาจติดตามสัญชาตญาณพื้นฐานของตัวเองและมุ่งลงลึกในรายละเอียด โดยละทิ้งพันธะที่มีต่อตรินิตี ดังนั้นเมื่อตรินิตีตาย(-โชคดีนิดๆ ที่ดราม่าในส่วนนี้เกิดขึ้นและดับไปโดยเร็ว) จึงทำให้จุดขัดแย้งดังกล่าวสิ้นความหมาย นีโอสามารถกลับมาเชื่อฟังสัญชาตญาณ นำไปสู่การพิจารณาทางเลือกโดยปราศจากพันธะผูกพัน หรือพูดให้ชัด – อุปสรรคที่จะขัดขวางการทุ่มเทสมาธิ
เราอาจใช้จินตนาการเติมเต็มช่องว่างว่าระบบจักรกลคงจะล่วงรู้การมาจุติของผู้กอบกู้โดยใช้หลักอัลกอริธึ่มคำนวนสถิติทางพันธุกรรมมนุษย์ก็ได้(และโปรแกรมนักพยากรณ์ก็อาจจะมีไว้เพื่อการผลักดันอีกทางจากข้างในระบบเองเพื่อความสมดุล – หรืออื่นๆ – ตามขอบเขตความฟุ้งซ่านในแต่ละบุคคล) เพราะแน่นอนแล้วว่านีโอก็คือเดอะ วัน แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ว่าจู่ๆ เขาเกิดมองเห็นฝนรหัสสีทองในโลกข้างนอกเมทริกซ์(แถมทั้งๆ ที่ตาบอด) และไม่ใช่เพราะการเตะต่อยปล่อยพลังอย่างสูสีกับโปรแกรมสายลับที่พัฒนาถึงขีดที่เชื่อมั่นว่าตัวมันเองก็สามารถ‘หลุดพ้น’จากเมทริกซ์ได้ แต่เป็นเพราะเขามองเห็นคำตอบแท้จริงท่ามกลางตัวเลือกลวงตา ทางเลือกสุดท้ายที่ยุติทุกอย่างในขณะเดียวกับที่มอบทุกผลลัพธ์ เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินเลย เพราะควรแล้วที่คนซึ่งสามารถหลุดพ้นจะทำได้เช่นนั้น ด้วยเหตุที่ระบบเมทริกซ์เป็นดังที่ตัวละครหนึ่งเอ่ยวลีไว้ตรงไหนสักแห่ง และนับเป็นคำจำกัดความที่ครอบคลุมหนังทั้งไตรภาค หรือกระทั่งเป็นคำเอ่ยอ้างที่ใช้ได้ในบริบทชีวิตจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตราบเท่าที่สมมติฐานเรื่องจักรกลครองโลกยังไม่ถูกลบล้างความเป็นไปได้
วลีนั้นว่าไว้ :Matrix is everything
ตัวอย่าง The Matrix
ที่มาของรูปภาพ
en.wikipedia.org/wiki/The Matrix