เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Kilopower แหล่งพลังงานสำหรับอาณานิคมดาวอังคาร
การสำรวจอวกาศจำเป็นต้องอาศัยแหล่งพลังงานจำนวนมากเพื่อขับเคลื่อนยานอวกาศและหล่อเลี้ยงระบบยังชีพให้กับนักบินอวกาศ นาซ่าทดสอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชัน Kilopower เพื่อผลิตพลังงานให้กับโครงการสำรวจอวกาศและการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารในอนาคต
เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Kilopower วิจัยพัฒนาโดยศูนย์วิจัย Glenn Research Center ของนาซ่ารวมมือกับ Marshall Space Flight Center และห้องปฏิบัติการแห่งชาติ Los Alamos National Laboratory เริ่มต้นโครงการวิจัยพัฒนาในปี 2012 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Kilopower สร้างพลังงานโดยใช้ความร้อนที่เกิดจากการแตกตัวของยูเรเนียม สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าได้ 10 กิโลวัตต์ทำงานต่อเนื่องในอวกาศได้นาน 10 ปี มีความทนทานสามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายในอวกาศ
คลิปอธิบายการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Kilopower
ก่อนหน้านี้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายแต่หากเป็นยานอวกาศที่ทำภารกิจอยู่ในบริเวณดาวเคราะห์ชั้นนอกซึ่งมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ทำให้ยานอวกาศสามารถสร้างพลังงานได้น้อยลง ตัวอย่างเช่น ยานอวกาศ Juno ที่ถูกส่งไปสำรวจดาวพฤหัสบดีตัวยานต้องติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเท่ารถบัส 3 แผงเพื่อให้ผลิตพลังงานได้เพียงพอต่อการใช้งาน
ปัจจุบันการเดินทางออกไปสำรวจยังดาวเคราะห์ชั้นนอกจะใช้เทคโนโลยีเครื่องกำเนิดไอโซโทปรังสีกัมมันตภาพรังสีแบบมัลติมิเตอร์ (MMRTG) ใช้ความร้อนที่เกิดจากการสลายตัวของพลูโตเนียม -238 สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 200 วัตต์อาจเพียงพอสำหรับดาวเทียมหรือยานสำรวจแต่ไม่เพียงสำหรับการใช้งานในปริมาณมาก เช่น ยานอวกาศที่บรรทุกนักบินอวกาศ อีกทั้งการใช้งานพลูโตเนียม -238 ยังมีปริมาณที่จำกัดด้านปริมาณและขั้นตอนการใช้งาน
เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชัน Kilopower ถูกวิจัยพัฒนาขึ้นมาเพื่อทดแทนเทคโนโลยีเดิมที่สร้างพลังงานได้น้อย โดยสามารถสร้างพลังงานให้กับภารกิจสำรวจอวกาศแม้จะอยู่ในบริเวณที่ได้รับแสงอาทิตย์น้อยหรือบริเวณพื้นที่ดาวเคราะห์ชั้นนอก โครงการนี้มีกำหนดการทดสอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2018 เพื่อทดสอบและประเมินผลการใช้งานสำหรับภารกิจอวกาศในอนาคตของนาซ่า
ที่มาของข้อมูล
nasa.gov, skyandtelescope.com, gameon.nasa.gov