ญี่ปุ่นทดสอบต้นแบบลิฟต์อวกาศ (Space Elevator) เป็นครั้งแรกของโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากบริษัทโอบายาชิประเทศญี่ปุ่นร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยชิซูโอกะเตรียมการทดลองต้นแบบลิฟต์อวกาศเป็นครั้งแรกของโลกมีกำหนดการส่งต้นแบบลิฟต์อวกาศขึ้นสู่วงโคจรของโลกในวันที่ 11 กันยายนนี้โดยใช้จรวด H-IIB จากบริเวณฐานปล่อยจรวดศูนย์อวกาศทาเนะงะชิมะซึ่งหากการทดสอบนี้สำเร็จถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีลิฟต์อวกาศ

ทดสอบต้นแบบลิฟต์อวกาศใกล้สถานีอวกาศนานาชาติ ISS

ต้นแบบลิฟต์อวกาศ (Space Elevator) ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยชิซูโอกะพัฒนาร่วมกับบริษัทโอบายาชิมีลักษณะเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก 2 ดวงขนาดประมาณ 10×10 เซนติเมตรเชื่อมต่อติดกันโดยใช้สายเคเบิลความยาว 10 เมตร ดาวเทียมจะถูกปล่อยจากสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ในระหว่างการทดสอบจะมีการติดตั้งกล้องบันทึกภาพการเคลื่อนตัวของแคปซูลระหว่างดาวเทียมสองดวงเพื่อศึกษาการเคลื่อนที่ของแคปซูลบนสายเคเบิลในอวกาศ

เทคโนโลยีลิฟต์อวกาศตามแนวคิดของบริษัทโอบายาชิ

บริษัทโอบายาชิเปิดเผยแนวคิดลิฟต์อวกาศเมื่อปี 2014 โดยตั้งเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการลิฟต์อวกาศภายในปี 2050 เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการเดินทางขึ้นสู่อวกาศของมนุษย์ โดยทางบริษัทจะรับผิดชอบด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง ระบบจัดการพื้นฐานของลิฟต์อวกาศ โดยทีมวิศวกรบริษัทโอบายาชิมีประสบการณ์ในการก่อสร้างหอคอยสูง Tokyo Skytree กลางกรุงโตเกียว แต่การก่อสร้างลิฟต์อวกาศเป็นแนวคิดที่ก้าวกระโดดอย่างเหลือเชื่อ ทีมวิศวกรบริษัทโอบายาชิจะต้องหาวิธีการให้ทำลิฟต์อวกาศเดินทางสูงจากพื้นโลกถึง 36,000 กิโลเมตร

ข้อมูลที่บริษัทโอบายาชินำเสนอลิฟต์อวกาศต้องใช้สายเคเบิลที่ผลิตจาก Carbon Nanotube ความทนทานสูงยาวกว่า 96,000 กิโลเมตรและต้องรับน้ำหนักของลิฟต์อวกาศประมาณ 100 ตัน ถือเป็นความท้าด้านวิศวกรรมในแบบที่ไม่เคยเห็นในโลกมาก่อน การขับเคลื่อนลิฟต์อวกาศจะใช้แรงจากการหมุนของโลกยกตัวลิฟต์ให้สูงขึ้นจากพื้นในขณะเดียวกันก็มีระบบสร้างพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในตอนที่ลิฟต์เดินทางกลับโลก

ส่วนประกอบโครงการลิฟต์อวกาศประกอบด้วยสถานีรับส่งบนโลกเรียกว่า Earth Port มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 400 เมตรตั้งอยู่กลางมหาสมุทร ส่วนบนสุดของสถานีรับส่ง Earth Port เชื่อมติดกับสายเคเบิลที่ทอดผ่านขึ้นสู่อวกาศ การเดินทางจากแผ่นดินใหญ่ไปสถานีรับส่ง Earth Port ใช้ท่อขนส่งใต้น้ำ นอกจากจะใช้เป็นสถานีขนส่งแล้ว Earth Port ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอีกด้วย

การเดินทางขึ้นสู่อวกาศเริ่มจากสถานีรับส่ง Earth Port บนโลก ตลอดเส้นทางที่ลิฟต์เดินทางขึ้นสู่อวกาศจะผ่านสถานีย่อยอื่น ๆ ตลอดเส้นทางอีก 6 สถานี

  • สถานี Mars Gravitiy Center ที่ระดับความสูง 3,900 กิโลเมตร
  • สถานี Lunar Gravity Center ที่ระดับความสูง 8,900 กิโลเมตร
  • สถานี LEO Gate ที่ระดับความสูง 23,750 กิโลเมตรในสถานีนี้จะถูกใช้เป็นจุดปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรระดับ LEO ของโลก
  • สถานี GEO Station ที่ระดับความสูง 36,000 กิโลเมตรในสถานีนี้จะถูกใช้เป็นจุดปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรระดับ GEO ของโลก
  • สถานี Mars Gate ที่ระดับความสูง 57,000 กิโลเมตรในสถานีนี้จะถูกใช้เป็นจุดเชื่อมต่อกับยานอวกาศที่เดินทางไปอาณานิคมดาวอังคาร
  • สถานีสุดท้าย คือ Counter-weight ที่ระดับความสูง 96,000 กิโลเมตรที่สถานีนี้ถือเป็นจุดสุดท้ายของลิฟต์อวกาศเป็นที่ตั้งของลูกตุ้มถ่วงน้ำหนัก สถานีควบคุม จุดแวะพักและแหล่งพลังงานไฟฟ้าโซล่าเซลล์ขนาดใหญ่บนอวกาศ

บทวิเคราะห์จาก Nextwider

ความจริงแล้วแนวคิดลิฟต์อวกาศ (Space Elevator) ไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่สามารถย้อนไปหาจุดเริ่มต้นในปี 1895 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย คอนสแตนติน โซลคอฟสกี (Constantin Tsiolkovsky) ที่เขียนบทความเรื่อง “Daydream about the Earth and the Heaven” อธิบายถึงการสร้างหอคอยสูงเชื่อมต่อโลกกับอวกาศ ต่อมาแนวคิดลิฟต์อวกาศเป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกครั้งผ่านงานเขียนของอาร์เทอร์ ซี. คลาร์ก (Arthur Charles Clarke) นักเขียนนิยายวิทยาศาตร์ชื่อดังเรื่อง The Fountains of Paradise ในปี 1978

หากเป็นไปตามแผนการภายในปี 2050 เราอาจได้เห็นการเดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยใช้ลิฟต์ในช่วงปี 2050 เทคโนโลยีอวกาศของมนุษย์อาจก้าวไปไกลมากแล้วอาจมีการตั้งสถานีบนดวงจันทร์หรือมีมนุษย์กลุ่มแรก ๆ เริ่มตั้งสถานีบนดาวอังคารการใช้ลิฟต์อวกาศอาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะประหยัดต้นทนการขนส่งอวกาศ เนื่องจากใช้พลังงานที่น้อยกว่าการปล่อยจรวดหลายเท่าและยานอวกาศสามารถเชื่อมต่อกับลิฟต์อวกาศเพื่อขนส่งนักบินโดยไม่จำเป็นต้องลงจอดบนโลกซึ่งต้องผ่านกระบวนการ Re-entry ยานจะต้องเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลกทำให้เกิดความร้อนสูงและยานอาจได้รับอันตราย

นอกจากประโยชน์ด้านการขนส่งอวกาศอาจสามารถใช้เป็นเส้นทางขนส่งพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ขนาดยักษ์ที่ถูกสร้างไว้ในอวกาศ รวมไปถึงเป็นเส้นทางลัดขึ้นไปสู่เมืองกลางอวกาศที่ถูกสร้างขึ้นในอนาคต มาถึงจุดนี้อาจฟังดูน่าเหลือเชื่อเหมือนหลุดออกมาจากนิยายวิทยาศาสตร์แต่ทุกอย่างเป็นไปได้เพราะมนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์ที่ไม่หยุดนิ่งและโหยหาการสำรวจอยู่ตลอดเวลา

ที่มาของข้อมูล
digitaltrends.com , gizmodo.com , bbc.com , obayashi.co.jp

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *