อินเดียทดสอบยิงทำลายดาวเทียมสำเร็จเป็นครั้งแรก
อินเดียประกาศความสำเร็จในการทดสอบยิงทะลายดาวเทียมในวงโคจรสำเร็จเป็นครั้งแรก ทำให้อินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ของโลกที่สามารถทำลายดาวเทียมในวงโคจรได้สำเร็จต่อจาก อเมริกา รัสเซียและจีน โดยอินเดียชี้แจงเหตุผลของการทดสอบในครั้งนี้ว่าเพื่อสันติภาพและความมั่นคงของประเทศอินเดีย
ภารกิจ Mission Shakti ขีปนาวุธทำลายดาวเทียม
วันที่ 27 มีนาคม 2019 ที่ผ่านมาอินเดียประสบความสำเร็จในภารกิจ Mission Shakti การทดสอบปล่อยขีปนาวุธยิงทะลายดาวเทียมในวงโคจร อินเดียใช้ขีปนาวุธ Agni-V ภาษาไทยอ่านว่า “อัคนี” ปล่อยจากฐานขีปนาวุธบริเวณรัฐโอฑิศา ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเข้า ขีปนาวุธ Agni-V เข้าปะทะทำลายดาวเทียม MICROSAT-R บริเวณเหนือมหาสมุทรอินเดียที่ระดับความสูงประมาณ 300 กิโลเมตร
อินเดียเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีการยิงทำลายดาวเทียม เทคโนโลยีการยิงทำลายดาวเทียม ASAT หรือ Anti-satellite weapons มาตั้งแต่ในช่วงปี 2012 โดยประสบความสำเร็จในการปล่อยขีปนาวุธ Agni-V ขึ้นสู่ระดับความสูง 100 กิโลเมตรต่อพุ่งเข้าทำลายเป้าหมายกลางมหาสมุทรที่ระยะห่างออกไป 5,000 กิโลเมตร
อินเดียพัฒนาขีปนาวุธ Agni ออกมา 3 รุ่นด้วยกัน คือ Agni-l , Agni-ll และ Agni-V โดยเฉพาะขีปนาวุธรุ่น Agni-V เป็นขีปนาวุธข้ามทวีป ICMB สามารถยิงทำลายทุกเป้าหมายในประเทศจีนและปากีสถานซึ่งเป็นสองประเทศที่มีข้อพิพาทดินแดนกับอินเดีย
ดาวเทียมที่ระเบิดกลายเป็นขยะอวกาศ
ภายหลังการประกาศความสำเร็จของอินเดียหลายประเทศได้แสดงความกังวลต่อชิ้นส่วนดาวเทียมที่ระเบิดกลายเป็นขยะอวกาศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่กล่าวว่าขยะอวกาศอาจทำลายดาวเทียมดวงอื่น ๆ รวมไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ โดยทางอินเดียยืนยันว่าเศษชิ้นส่วนดาวเทียมจะลงเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกและถูกเผาไหม้ไปเองไม่ก่ออันตรายใด ๆ
หากย้อนไปในปี 2007 จีนได้ทำการทดสอบยิงขีปนาวุธทำลายดาวเทียมและทำให้เกิดชิ้นส่วนขยะอวกาศกระจายออกไปเกือบ 1 หมื่นชิ้นและปัจจุบันขยะอวกาศบางส่วนเหล่านี้ยังลอยอยู่ในอวกาศด้วยความเร็วสูงสามารถพุ่งทำลายดาวเทียมหรือสถานีอวกาศได้ตลอดเวลา
การทดสอบยิงทำลายดาวเทียมของประเทศอื่น
เทคโนโลยีการยิงทำลายดาวเทียม ASAT หรือ Anti-satellite weapons อเมริกาเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีนี้โดยการทดสอบครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงความขัดแย้งสงครามเย็นกับรัสเซียซึ่งทั้งสองประเทศได้ส่งดาวเทียมจารกรรมข้อมูลของอีกฝ่ายกันจำนวนมาก
เทคโนโลยีการยิงทำลายดาวเทียมของอเมริกาในยุคเริ่มแรกนั้นใช้วิธีการปล่อยขีปนาวุธจากเครื่องบินขึ้นสู่อวกาศ ในปี 1959 กองทัพเรือสหรัฐได้ทำการทดสอบยิงขีปนาวุธ Bold Orion จากเครื่องบิน B-47 ขึ้นไปทำลายดาวเทียม Explorer 6 ต่อมาในปี 1985 อเมริกาได้ทดสอบใช้เครื่องบิน F-15 Eagle ยิงขีปนาวุธ ASM-135 ASAT ได้สำเร็จ ต่อมาในภายหลังอเมริกาเริ่มใช้การยิงขีปนาวุธจากพื้นดินขึ้นไปทำลายเดียว เช่น ขีปนาวุธ SM-3
เทคโนโลยีการยิงทำลายดาวเทียมของรัสเซียมีชื่อว่า PL-19 Nudol ทดสอบเมื่อปี 2015 โดยใช้ฐานยิงขีปนาวุธจากพื้นดินจากฐานบริเวณตอนเหนือของกรุงมอสโค ต่อมาได้พัฒนาการยิงขีปนาวุธจากเครื่องบิน Mig-31 ไปพร้อม ๆ กัน ส่วนเทคโนโลยีการยิงทำลายดาวเทียมของจีนเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1964 แต่มาประสบความสำเร็จในปี 2007 โดยใช้ขีปนาวุธ SC-19 ASAT ยิงทำลายดาวเทียม FY-1C ที่ระดับความสูง 865 กิโลเมตร
ที่มาของข้อมูล
India shows it can destroy satellites in space, worrying experts about space debris
India enters an elite space club after scientists shoot down a low-orbit satellite 300km away in space, says Prime Minister Modi