การพัฒนาเทคโนโลยีจรวดในประเทศไทย
ปัจจุบันเทคโนโลยีจรวดขนส่งอวกาศถูกพัฒนาโดยบริษัทเอกชนต่างประเทศและมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วเพื่อลดต้นทุนในการขนส่งดาวเทียมและนักบินอวกาศ ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีจรวดในประเทศไทยเน้นใช้ในด้านกิจการทหารเป็นจรวดเชื้อเพลิงแข็ง DTI-1 และ DTI-1G มีเป้าหมายการวิจัยพัฒนาจรวดโจมตีระยะไกล 150-180 กิโลเมตร ไม่สามารถส่งขึ้นสู่ระดับความสูงอวกาศได้แต่นับเป็นเทคโนโลยีจรวดที่ทันสมัยมากที่สุดในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน
โครงการพัฒนาจรวดของกองทัพไทยเริ่มต้นในปี 2006 โดยเริ่มจากจรวดต่อสู้สกัดกั้น Anti -Surface Missile ระยะยิง 40 กิโลเมตร จรวดโจมตีอากาศสู่อากาศ Air-Air Missile ระยะยิง 40 กิโลเมตร จรวดต่อสู้รถถังขนาดเล็ก Anti-Tank/Anti-Ship ระยะยิง 8 กิโลเมตร รวมไปถึงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาจรวดและอาวุธนำวิถี มอเตอร์จรวด วัตถุดินขับดันแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรด์และจังหวัดลพบุรี
จรวด DTI-1 และ DTI-1G ของกองทัพไทย
จรวด DTI-1 และ DTI-1G ถูกพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป. โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจากประเทศจีนจรวด DTI-1 ได้รับการส่งมอบให้กองพันทหารปืนใหญ่ กองทัพบกทดสอบใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2011
จรวดหลายลำกล้องแบบไม่นำวิถี DTI-1 มีเป้าหมายการวิจัยพัฒนาจรวดโจมตีระยะไกล 180 กิโลเมตร จรวดรุ่น DTI-1 ถูกบรรจุเข้าประจำการในกองทัพไทยจำนวน 1 ระบบประกอบด้วยรถยิงจรวด 2 คันและรถบรรทุกสัมภาระ 1 คัน โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจรวดโจมตีเว่ยซื่อ (Weishi) WS-1B ของบริษัท SCAIC ประเทศจีน
จรวดหลายลำกล้องแบบนำวิถี DTI-1G ถูกนำเข้าประจำการในกองทัพบกเมื่อปี 2016 ประจำการที่กองพลทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี ปัจจุบันสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศมีเป้าหมายปรับปรุงระบบยิงจรวดหลายลำกล้องแบบนำวิถี DTI-1G มีเป้าหมายการวิจัยพัฒนาจรวดโจมตีระยะไกล 150 กิโลเมตร ระบบควบคุมการยิงจรวดหลายลำกล้องแบบ WS-32 ที่พัฒนาโดยบริษัท บริษัท Long-March International co., Ltd. ประเทศจีน มูลค่าโครงการ 79,851,820 ล้านบาท
ส่วนรถยิงจรวดหลายลำกล้องแบบนำวิถี DTI-1G ที่จะได้รับการปรับปรังและเข้าประจำการใหม่จำนวน 5 คัน แบ่งออกเป็นรถยิงจรวด 3 คัน รถควบคุมและรถบรรทุกสัมภาระอย่างล่ะ 1 คัน ภายใต้โครงการจัดจ้างปรับปรุงจรวดนำวิถี DTI-1G โดยมีบริษัทเอกชนไทยจำนวน 2 รายยื่นซองประมูลได้แก่ บริษัท ช.ทวี จำกัด(มหาชน) และ บริษัท ปรีชาถาวรอุตสาหกรรม จำกัด มูลค่าโครงการ 2,400,000 ล้านบาท
คลิปวิดีโอการพัฒนาจรวด DTI-1G ในประเทศไทย
การส่งเสริมเทคโนโลยีจรวดในประเทศไทย
ปัจจุบันแม้เทคโนโลยีจรวดจะเป็นเรื่องทางด้านการทหารแต่พบว่าองค์กรหลายแห่งได้พยายามผลักดันเทคโนโลยีจรวดโดยเริ่มจากเยาวชน เช่น องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดการจัดการแข่งขัน “Thailand CANSAT-ROCKET Competition 2019” เปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจการประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็ก (CANSAT) และจรวดเชื้อเพลิงน้ำตาล (Sugar Rocket) ส่วนในระดับมหาวิทยาลัยการพัฒนาจรวดอยู่ในรูปแบบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจรวด
งานวิจัยการพัฒนาจรวดสำหรับใช้ในการทดสอบจรวดความเร็วเสียงโดยใช้เชื้อเพลิงแข็ง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธาดา สุขศิลา (Thada Suksila) ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยพัฒนาจรวดขนาดเล็กใช้เชื้อเพลิงแข็ง 2 ชนิด ได้แก่ เชื้อเพลิงแบบผงสีขาว (White Mixed) และ เชื้อเพลิงแบบคาราเมล (Rocket Candy หรือ R-Candy) โดยเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดจะมีรูปทรงเป็นแบบ ทรงกระบอกตัน (End Burning) และทรงกระบอกกลวง (Core Burning) งสามารถยิงขึ้นไปบนท้องฟ้าที่ระดับความสูงประมาณ 600 เมตรและ 1,000 เมตรตามลำดับ
โครงการวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการยกร่างกฎหมายอวกาศและกิจการดาวเทียม สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทีมงานวิจัยประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร. วิสูตร ตุวยานนท์ , ศาสตราจารย์ดร. ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช (หัวหน้าโครงการ), อาจารย์ ประเสริฐ ป้อมป้องศึก, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร บุญอร่ามเรือง, นางสาวศิริพร เอี่ยมธงชัย, นาง ชื่นสุมน นิวาทวงษ์, ร้อยเอก พัชรวรรณ ประสงค์สิน, นางสาว นิชธิวัลย์ แขรัตนะ โดยเป็นการวิจัยการยกร่างกฎหมายอวกาศและกิจการดาวเทียมสื่อสาร ร่างพระราชบัญญัติ กฎหมายแม่บทกิจการอวกาศและดาวเทียมของประเทศไทย โดยศึกษากฎหมายอวกาศที่อยู่ในรูปของสนธิสัญญา ตราสารระหว่าง ประเทศต่างๆและกฎหมายแม่บทกิจการอวกาศของประเทศต่างๆ และประเด็นปัญหาต่างๆในเรื่องของ ดาวเทียมของประเทศไทย
อุปสรรคด้านข้อกฏหมายในการพัฒนาจรวด
ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีจรวดขนาดต่าง ๆ ในประเทศไทยจำเป็นต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฏหมาย โดยมีกฏหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งไม่อนุญาตให้ครอบครองหรือผลิตวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาติ ผู้ละเมิดมีความผิดทางกฏหมายอาญา
พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๔ มาตรา ๒๕ (๔) มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ และ มาตรา ๗๔ กำหนดพื้นที่ที่ไม่สมควรให้มีการเล่นดอกไม้เพลิง เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน กรณีเกิดอุบัติภัยขึ้นไม่ว่าจะเป็นเหตุเพลิงไหม้ หรือการระเบิดของดอกไม้เพลิงจากการประมาทและขาดความระมัดระวังของประชาชนจนเกิดอันตรายแล้ว ผู้นั้นจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๐ อาจต้องระวางโทษ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี
อย่างไรก็ตามในกรณีของการปล่อยปั้งไฟ ตะไล โคมลอย โคมไฟ มีข้อกฏหมายอนุญาติไว้หากได้รับการยื่นขอดำเนินการอย่างถูกกฏหมาย ผู้ที่ต้องการจัดกิจกรรมต้องยื่นใบอณุญาติล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันให้อำเภอท้องที่และได้แจ้งประสานงานกับสนามบิน ท่าอากาศยานหรือศูนย์ควบคุมการบินในท้องที่ให้ทราบล่วงหน้า 7 วัน ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อกฏหมายข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนที่อาจเป็นอุปสรรคการพัฒนาจรวดขนส่งอวกาศในประเทศไทย การพัฒนาเทคโนโลยีจรวดขนส่งอวกาศอาจเริ่มต้นด้วยการแก้ไขข้อกฏหมายในหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสามารถพัฒนาจรวดขนส่งอวกาศได้ อาจอยู่ในรูปแบบความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับบริษัทเอกชน ควบคู่กับการส่งเสริมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีจรวดในเยาวชนและการศึกษาในระดับต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีจรวดขนส่งอวกาศให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
ประเทศไทยจะได้อะไรจากการพัฒนาจรวด
การพัฒนาจรวดในประเทศไทยนอกจากสามารถใช้เป็นเทคโนโลยีป้องกันประเทศยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีจรวดขนส่งอวกาศ การสร้างโอกาสทางธุรกิจด้านการขนส่งอวกาศ ดาวเทียม ที่จะมีการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีความเหมาะสมกับการใช้เป็นฐานปล่อยจรวดขนส่งอวกาศ
ปัจจุบันหลายประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนได้เริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีจรวดขนส่งอวกาศแล้ว เช่น ประเทศเวียดนามมีโครงการพัฒนาจรวดขนส่งอวกาศชื่อ Project VT/TLĐ/14-15 ภายใต้หน่วยงาน Vietnam Aerospace Association, & National Satellite Center มีการทดสอบจรวดรุ่นแรก TV-01 เมื่อเดือนตุลาคม 2019 โดยมีเป้าหมายสูงสุดการพัฒนาจรวดที่สามารถส่งดาวเทียมของประเทศเวียดนาม
อ่านเพิ่มเติม : อินโดนีเซียเตรียมส่งจรวดบรรทุกดาวเทียมน้ำหนัก 1 ตันขึ้นสู่อวกาศในปี 2040
ประเทศอินโดนีเซียมีแผนการส่งจรวดบรรทุกดาวเทียมน้ำหนัก 1 ตันขึ้นสู่อวกาศในปี 2040 ภายใต้หน่วยงานสถาบันการบินและอวกาศแห่งชาติอินโดนีเซียหรือ LAPAN และสิงคโปร์ที่ใช้รูปแบบความร่วมมือกับบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีความเป็นได้สูงที่ในอนาคตภูมิภาคอาเซียนจะกลายเป็นบานปล่อยจรวดที่สำคัญ
การพัฒนาเทคโนโลยีจรวดในประเทศอาจเป็นการพัฒนาบุคคลกรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งสามารถเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ความสำเร็จด้านเทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างความสำเร็จด้านเทคโนโลยีอวกาศ กล่าวกันว่าเฉพาะโครงการอวกาศไปดวงจันทร์โครงการเดียวสหรัฐอเมริกาต้องใช้กองทัพวิศวกรหลักแสนคนและบุคลากรด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาในโครงการอวกาศหลายอย่างได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกในปัจจุบัน
ที่มาของข้อมูล
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน)
ระบบควบคุมการยิง WS-32
การปรับปรุงรถจรวดนำวิถี DTI-1G จำนวน 5 คัน
DTI จัดหาระบบควบคุมการยิง WS-32 สำหรับติดตั้งบน DTI-1G และปรับปรุงรถยิงจรวด DTI-1G
การพัฒนาจรวดสำหรับใช้ในการทดสอบจรวดความเร็วเสียงโดยใช้เชื้อเพลิงแข็ง
โครงการวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการยกร่างกฎหมายอวกาศและกิจการดาวเทียม