จีนประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศแบบนำกลับมาใช้งานใหม่
สำนักข่าว Xinhua ประเทศจีนรายงานความสำเร็จการส่งยานอวกาศแบบนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ของจีน (Reusable Experimental Spacecraft) โดยเป็นยานอวกาศแบบไร้นักบินอวกาศควบคุม แม้ว่าทางรัฐบาลจะไม่เปิดเผยรูปแบบของยานอวกาศดังกล่าวและข้อมูลส่วนใหญ่ยังคงเป็นความลับแต่นักวิเคราะห์เชื่อว่ายานอวกาศของจีนอาจมีลักษณะคล้ายเครื่องบินอวกาศ X-37B ที่กองทัพสหรัฐอเมริกากำลังใช้งานอยู่
วันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมาจีนปล่อยจรวด Long March-2F จากฐานปล่อยจรวด Jiuquan Launch Center ตั้งอยู่ในเขตทะเลทรายทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ภารกิจเป็นความลับทราบเพียงว่ารูปแบบของยานอวกาศที่จรวดบรรทุกขึ้นสู่อวกาศนั้นสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้โดยการบินร่อนลงจอดคล้ายกระสวยอวกาศขนาดเล็ก
จีนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเครื่องบินอวกาศหรือยานอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้งานซ้ำได้ เช่น กลุ่มเครื่องบินอวกาศที่ใช้จรวดผลักดัน เครื่องบินอวกาศ Tian-Jiao-1 บรรทุกน้ำหนัก 3 ตัน อยู่ในขั้นวิจัยพัฒนา , เครื่องบินอวกาศ Chang-Cheng-1 บรรทุกน้ำหนัก 5 ตัน อยู่ในขั้นวิจัยพัฒนา สำหรับโครงการในอนาคตเครื่องบินอวกาศเพื่อการขนส่งมนุษย์อวกาศ เช่น เครื่องบินอวกาศ Tianxing-1 , 2 และ 3 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบริษัทเอกชนที่ให้ความสนใจพัฒนายานอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ เช่น บริษัท iSpace พัฒนาเครื่องบินอวกาศแบบนำกลับมาใช้งานใหม่ยังไม่ทราบชื่อรุ่น บริษัท Landspace พัฒนาเครื่องบินอวกาศแบบนำกลับมาใช้งานใหม่ชื่อว่า Qinglong บรรทุกนักบินอวกาศ 10 คน ประกาศแผนการสร้างเมื่อปี 2018 ปัจจุบันโครงการยังไม่มีความคืบหน้า
ที่มาของข้อมูล
China launches reusable experimental spacecraft
China launches secretive ‘reusable experimental spacecraft’
China’s Spaceplane Projects: Past, Present and Future