จีนส่งยาน Chang’e 4 ไปสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมาองค์กรอวกาศของจีน (China National Space Administration หรือ CNSA) ประสบความสำเร็จในการส่งจรวด Long March 3B บรรทุกยาน Chang’e 4 (ฉางเอ๋อ-4 ) ขึ้นสู่อวกาศเพื่อเดินทางไปสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์หรือด้านไกลของดวงจันทร์ หากภารกิจสำเร็จไปตามแผนยาน Chang’e 4 ของจีนจะกลายเป็นยานอวกาศลำแรกของโลกที่ลงจอดสำรวจด้านมืดของจันทร์และจะเป็นยานอวกาศลำแรกของโลกที่ทำการทดสอบปลูกพืชและสังเกตการณ์เจริญเติบโตของสัตว์บนด้านมืดของดวงจันทร์ ยาน Chang’e 4 มีกำหนดลงจอดบนดวงจันทร์ประมาณเดือนมกราคม 2019
ยาน Chang’e 4 (ฉางเอ๋อ-4 )
ยาน Chang’e 4 (ฉางเอ๋อ-4 ) มีลักษณะเป็นยานสำรวจสามารถเคลื่อนที่ได้บนผิวดวงจันทร์มีส่วนประกอบหลักแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วน Lander น้ำหนักประมาณ 1,200 กิโลกรัมทำหน้าที่ลงจอดบนผิวดวงจันทร์และส่วน Rover ขนาดกว้าง 1.5x1x1 เมตรน้ำหนักประมาณ 140 กิโลกรัมทำหน้าที่สำรวจผิวดวงจันทร์ในพื้นที่ต่าง ๆ
ยาน Chang’e 4 (ฉางเอ๋อ-4 ) ไม่ใช้ยานอวกาศลำแรกที่จีนส่งไปสำรวจดวงจันทร์โดยก่อนหน้านี้องค์กรอวกาศของจีนประสบความสำเร็จในการส่งยาน Chang’e 1-3 ไปสำรวจดวงจันทร์มาแล้วแต่เป็นการลงจอดบนด้านสว่างของดวงจันทร์ ส่วนยาน Chang’e 4 นั้นจะลงจอดบนด้านมืดของดวงจันทร์บริเวณหลุมอุกกาบาต Von Kármán กว้างประมาณ 186 กิโลเมตรบริเวณขั้วด้านใต้ของดวงจันทร์ ความท้าทายในการสำรวจดวงจันทร์ด้านมืดของ คือ การสื่อสารส่งข้อมูลมายังโลกเนื่องจากด้านมืดของดวงจันทร์อยู่ในจุดที่อับสัญญาณยาน Chang’e 4 จึงต้องใช้วิธีส่งสัญญาณไปหาดาวเทียม Queqiao (เชวี่ยเฉียว) เพื่อส่งสัญญาณกลับมายังโลก
ภารกิจของยาน Chang’e 4 (ฉางเอ๋อ-4 )
เนื่องจากยาน Chang’e 4 ลงจอดด้านมืดของดวงจันทร์ทำให้ลดการได้รับสัญญาณรบกวนจากโลกทำให้เหมาะสำหรับการทำภารกิจสังเกตการณ์ วิจัยทางดาราศาสตร์คลื่นวิทยุความถี่ต่ำ และทำภารกิจอื่น เช่น การวัดอุณหภูมิพื้นผิวดวงจันทร์ องค์ประกอบทางเคมีของหินบนดวงจันทร์ การศึกษารังสีคอสมิก การสำรวจโคโรนาระหว่างโลกและดวงอาทิตย์
นอกจากนี้ยาน Chang’e 4 ยังบรรทุกเมล็ดมะเขือเทศ พืชตระกูลอะราบิดอบซิส เพื่อทำการทดลองปลูกพืชบนดวงจันทร์ รวมไปถึงไข่ของหนอนไหมเพื่อทดสอบการเจริญเติบโตของหนอนไหมบนดวงจันทร์ ตัวอย่างที่ยานบรรทุกไปทั้งหมดมีน้ำหนักรวมกว่า 3 กิโลกรัม
ที่มาของข้อมูล
China Launches 1st Mission to Land on the Far Side of the Moon