ชวนดูหนังแบบคอไซไฟ – Blade Runner (1982)
ถ้าจะมีสิ่งใดที่ทำให้หนังBlade Runner ของริดลีย์ สก็อตต์ ดูครั่นคร้ามในความรู้สึกนักดูหนังบางคนที่ยังไม่เคยผ่านตา(และสวนทางคำยกย่องสรรเสริญที่เคยได้ยินได้ฟังมา) สิ่งนั้นก็น่าจะได้แก่รายละเอียดบางอย่างที่ชวนสับสน เป็นต้นว่า มันมีการตัดต่อหลายเวอร์ชั่นเกินไป แต่ละฉบับมีฉากที่ต่างกันมากเกินไป หรือกระทั่งบางฉบับปรับแก้เนื้อหาที่คลุมเครือให้กระจ่างขึ้น
ในบางแง่มุม เสียงเล่าลือดังกล่าวก็ไม่ต่างอะไรกับการวิเคราะห์ว่าตัวหนังถูกดัดแปลงต่างจากต้นฉบับนิยายของฟิลิป เค. ดิก ที่ชื่อ Do Androids Dream of Electric Sheep? ตรงจุดไหนและอย่างไร – เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจหาหนังมาชม ซึ่งไม่ใช่เรื่องควรจดจ่อเสียเวลาโดยสิ้นเชิง
เพราะอย่างไรเสีย ฉบับที่เรียกขานกันในชื่อ The Final Cut ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นตัดต่อสุดท้ายตามชื่อ ก็เป็นหนังฉบับแพร่หลายที่สุด ลงตัวที่สุด (ตามคำบอกเล่าของผู้กำกับ) และในบรรดาทั้งหมด นี่เป็นหนังฉบับเดียวที่ถูกฉายซ้ำในโรงภาพยนตร์อย่างเป็นทางการ (ในชื่อ ‘ฉบับครบรอบ 25 ปี’) และด้วยเหตุนี้ หนังทุกฉบับก่อนหน้านี้จึงถูกลดความสำคัญ หรือกระทั่งหาชมยากโดยปริยาย
หนังเล่าถึงโลกอนาคตซึ่งมนุษย์เทียม (replicant) ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ทำงานในพื้นที่หรือดาวเคราะห์ที่มีสภาวะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่แล้วมีข่าวว่าพวกมันก่อเหตุลุกฮือสังหารมนุษย์ก่อนหลบหนีกลับโลก และด้วยเหตุที่บริษัทผู้ผลิตสร้างพวกมันขึ้นมา‘เหมือนคนยิ่งกว่าคน’ ดังนั้น เบลดรันเนอร์ ซึ่งเป็นชื่อเรียกหน่วยตำรวจที่ทำภารกิจไล่ล่าและ‘ปลดเกษียณ’ รวมทั้งตรวจจำแนกพวกมนุษย์เทียมได้ จึงถูกเรียกตัวมาทำคดี
เมื่อริค เด็คการ์ด พบว่าเรเชล คนที่ถูกเขายัดเยียดให้ใช้เครื่องตรวจจำแนกเพื่อทดสอบประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ออกมาว่าเธอเป็นมนุษย์เทียม ปฏิกิริยาของเรเชลหลังจากนั้นทำให้เขาถึงกับต้องกลบเกลื่อนมุขตลกร้ายเสียดแทงที่เพิ่งบอกกับเธอ (“เอาล่ะ ผมขอโทษ ผมแค่อำเล่น คุณไม่ใช่มนุษย์เทียม ผมขอโทษจริงๆ”) และจากจุดนี้เป็นต้นไป ขอบเขตภารกิจของเขาก็ดูพร่าเลือนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพบว่ามนุษย์เทียมที่เขาต้องตามล่านั้น เหมือนคนยิ่งกว่าคน อย่างที่ได้ยินมา
ด้วยความที่คนทำหนังถ่ายทอดจินตนาการถึงโลกอนาคตอย่างไม่ประนีประนอม (สอดรับกับทุนสร้างมโหฬาร) โปรดัคชั่นของเมืองลอสแอนเจลิสในปี 2019 จึงยังงดงาม (หรืออันที่จริง – หม่นหมอง) น่าประทับใจ แต่หากพิจารณาในรายละเอียดของส่วนผสม จะพบว่ามันถึงขั้นเป็นความอัศจรรย์เลยทีเดียว ทั้งภาพมุมกว้างของตึกสูงเสียดฟ้าพราวระยับด้วยแสงไฟตัดกับเปลวไฟพวยพุ่งเป็นลำ ท้องถนนเต็มไปด้วยผู้คนคลาคล่ำไม่เว้นนาที (และฝนตกพรำไม่เว้นแต่ละวัน) ลักษณะเครื่องแต่งกายที่ผสมปนเปจากทุกวัฒนธรรม ป้ายไฟและโฆษณาบนจอขนาดยักษ์ที่เป็น‘ญี่ปุ่น’ซึ่งชวนให้พิศวงถึงนัยความหมาย และเหนืออื่นใด คลอไปกับท่วงทำนองดนตรีประกอบจากนักประพันธ์ชาวกรีกนาม แวนเจลิส
เหตุผลเดียวที่ Blade Runner ไม่เคยเข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง เป็นเพราะมันไม่ตอบคำถามของตัวเองและยกให้เป็นภาระหน้าที่ของผู้ชม แต่ความดีงามอย่างที่หนังน้อยเรื่องจะทำได้เทียบเท่าก็คือ หากไม่ไยดีกับคำถาม มันก็จะเกาะติดในความสงสัยไปอีกเนิ่นนานอยู่นั่นเอง เช่นเดียวกับที่เรเชลถามเดคการ์ดว่าเขาเคยใช้เครื่องตรวจจำแนกกับตัวเองหรือยัง อันเป็นคำถามที่ชวนใคร่ครวญเกินความหมาย และหวาดหวั่นต่อผลลัพธ์ที่อาจจะเกิด หากแต่ก็ยังไม่กล้าตอบ (หรือลงมือตรวจจำแนก) อยู่นั่นเอง ที่น่าเสียดายก็คือมันดันไปพ้องกับความรู้สึกของนักดูหนังบางคนที่จงใจ‘พลาด’หนังเรื่องนี้
จึงจำเป็นต้องบอกว่า อย่ามัวเสียเวลาคิดว่าหากหนังจะหยุดอยู่ที่การตัดต่อฉบับแรกสุด มันจะยังอยู่ในความรับรู้ของคนดูมาถึงทุกวันนี้หรือไม่ เพราะความเห็นที่แทบเป็นเอกฉันท์สำหรับคนที่ไม่เคยสำรวจความหมายจริงจัง และหาโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์จนสำเร็จในที่สุดก็คือ
พวกเขาล้วนแล้วแต่ตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง