การเชื่อมต่อระหว่างยานอะพอลโล–โซยุซในอวกาศ

โครงการเชื่อมต่อยานอะพอลโลและยานโซยุซ (The Apollo-Soyuz Mission) ขณะยานทั้งสองลำโคจรรอบโลกถือเป็นครั้งแรกที่ยานอวกาศจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตทำภารกิจร่วมกันในขณะที่ทั้งสองประเทศแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศช่วงสงครามเย็น โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความร่วมมือด้านอวกาศในเวลาต่อมา

ยานโซยุซของสหภาพโซเวียตเดินทางขึ้นสู่อวกาศพร้อมนักบินอวกาศ Alexei Leonov และ Valeri Kubasov โดยใช้จรวด Soyuz-U เมื่อเวลาประมาณ 12.20 น. ของวันที่ 15 กรกฏาคม 1975 จากฐานปล่อยจรวดไบโคนูร์คอสโมโดรม

ยานอะพอลโลของสหรัฐอเมริกาเดินทางขึ้นสู่อวกาศพร้อมนักบินอวกาศ Thomas P. Stafford , Vance D. Brand และ Donald K. “Deke” Slayton โดยใช้จรวด Saturn IB เมื่อเวลาประมาณ 19.50 น. ของวันที่ 15 กรกฏาคม 1975 จากฐานปล่อยจรวดศูนย์อวกาศเคนเนดี จรวด Saturn ที่ใช้ภารกิจนี้มีขนาดเล็กกว่าจรวดที่เคยใช้ส่งยานอะพอลโลไปดวงจันทร์ เนื่องจากภารกิจนี้เป็นภารกิจระยะใกล้ใช้การโคจรรอบโลกเพื่อเชื่อมต่อกับยานอวกาศสหภาพโซเวียต

เมื่อเดินทางขึ้นสู่อวกาศยานอวกาศทั้ง 2 ลำโคจรรอบโลกและทำการเชื่อมต่อกันเมื่อเวลาประมาณ 16.20 น. ของวันที่ 17 กรกฏาคม 1975 หลังจากยานอวกาศทั้งสองลำเทียบท่าเชื่อมต่อกันนักบินอวกาศใช้เวลาปรับแรงดันและเตรียมความพร้อมประมาณ 3 ชั่วโมงก่อนผู้บัญชาการ Stafford และผู้บัญชาการ Leonov จะเปิดประตูยานเพื่อจับมือทักทายแลกเปลี่ยนธงชาติและของที่ระลึก โดยมีการทดลองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อยานต่าง ๆ ใช้เวลาประมาณ 47 ชั่วโมง ก่อนยานทั้งสองลำจะแยกตัวและเดินทางกลับโลก

การแข่งขันด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเป็นไปอย่างดุเดือนแต่ในช่วงท้ายกลับเต็มไปด้วยความร่วมมือด้านอวกาศและสันติภาพ ปูทางไปสู่ความร่วมมือด้านอวกาศในยุคต่อมา เช่น โครงการก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติโดยใช้ความร่วมมือของหลายประเทศ รวมไปถึงสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต

คลิปวิดีโอรำลึกการพบกันของยานอะพอลโล–โซยุซในอวกาศ

ที่มาของข้อมูล

The Apollo-Soyuz Mission

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation