The Martian เดอะมาร์เชี่ยนกู้ตาย 140 ล้านไมล์ (สปอยเนื้อเรื่องเต็มสูบ อวยไส้แตก)
The Martian เดอะมาร์เชี่ยนกู้ตาย 140 ล้านไมล์สุดยอดหนังไซไฟปี 2015 หากใครได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วคงจะยืนตบมือเสียงดัง ๆ ให้กับผลงานกำกับชั้นเลิศของท่านเซอร์ ริดลีย์ สก็อตต์ (Sir Ridley Scott) เนื้อเรื่องของหนังเกี่ยวกับการสำรวจดาวอังคารขององค์การบริหารการบินและอวกาศ (NASA) ที่ประสบกับปัญหาเนื่องจากมีพายุบนดาวอังคารพัดถล่มฐานสำรวจทำให้ต้องยกเลิกภาระกิจอย่างกระทันหันในระหว่างที่อพยพ พายุได้พัดนักบินอวกาศ มาร์ค วัทนีย์ปลิวหายไปกับพายุทุกคนในทีมคิดว่าเขาตายแล้วจึงออกมาจากดาวอังคารขึ้นยาน Ares 3 เดินทางไกลกลับโลก
หลังพายุสงบนักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์ยังไม่ตายและฟื้นขึ้นมาจากเนินเขาไม่ไกลจากฐานสำรวจมากนักเมื่อพบว่าตัวเองต้องอยู่โดดเดียวบนดาวอังคารเขาจึงต้องหาทางเอาชีวิตรอดรวมถึงหาทางติดต่อโลกเพื่อขอความช่วยเหลือ เขาได้ใช้หุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารรุ่นเก่าเพื่อติดต่อกลับไปยังโลกรวมถึงความพยายามที่จะปลูกมันฝรั่งบนดาวอังคารเพื่อใช้เป็นอาหาร หลังติดต่อกับนาซ่าได้นาซ่าพยายามทุกอย่างเพื่อช่วยชีวิตนักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์แต่ก็ไม่สำเร็จจนต้องใช้วิธีให้ยาน Ares 3 เดินทางกลับไปรับนักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์ โดยใช้ยานอวกาศของจีนส่งเสบียงและใช้แรงเหวี่ยงของโลกส่งยานไปดาวอังคาร ส่วนนักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์ต้องเดินทางไกลบนดาวอังคารเพื่อไปหายานสำรวจอีกลำที่จอดไว้บนดาวอังคารเพื่อบินขึ้นไปพบกับยาน Ares 3 และเดินทางกลับโลก
การดำเนินเรื่อง
The Martian ดำเนินเรื่องไปอย่างเรียบง่ายไม่มีจุดพลิกผันให้ตื่นเต้นหรือเหนือความคาดหมายไปมากนักให้ความรู้สึกคล้าย ๆ เอาหนัง 3 เรื่องมารวมกัน คือ Cast Away (2000) ผสมกับ Apollo 13 (1995) และ Gravity (2013) แต่ไม่เน้นหนักไปที่ฉากตัวนักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์บนดาวอังคารมากเกินไปความช่วยเหลือส่วนหนึ่งมาจากทีมงานนาซ่าบนโลกและเพื่อนนักบินบนยาน Ares 3 ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง หนทางการเอาชีวิตรอดไม่ได้ราบรื่นตัวนักบินมาร์ค วัทนีย์ต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดให้นานที่สุดแก้ปัญหาจากปัญหาหนึ่งไปยังปัญหาอื่น ๆ เรื่อย ๆ จะเอาชีวิตกลับมายังโลกได้ เพื่ออธิบายคุณค่าของการมีชีวิตและถ่ายทอดให้นักบินอวกาศรุ่นต่อ ๆ ไปอวกาศไม่ใช่ดินแดนแห่งความฝันหรือเพื่อนของคุณ อวกาศมันพร้อมจะฆ่าคุณได้ตลอดเวลา
นักแสดงและผู้กำกับ
ท่านเซอร์ ริดลีย์ สก็อตต์ (Sir Ridley Scott) ถ่ายทอดความไม่ราบรื่นของภารกิจสำรวจอวกาศของยาน Ares 3 อย่างสนุกตื่นเต้นสมกับที่มีผลงานหนังอวกาศสุดยอดอย่างเช่นเรื่อง Alien (1979) และ Prometheus (2012) เป็นเรื่องการันตีคุณภาพ ส่วนบทของนักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์ที่รับบทโดย แมท เดม่อน (Matt Damon) ก็ทำออกมาได้ดีสามารถทำให้คนดูเชื่อว่าเขาคือนักบินอวกาศที่ติดอยู่บนดาวอังคารจริง ๆ เป็นการรับบทนักบินอวกาศ 2 เรื่องติดกันของแมท เดม่อนโดยก่อนหน้านี้เขารับบทของ Dr.Mann จากหนังสำรวจอวกาศกู้โลกเรื่อง Interstellar
กัปตันยานสำรวจ Ares 3 รับบทโดยเจสสิกา แชสเทน (Jessica Chastain) ซึ่งเคยรับบทเป็นเมิร์ฟในหนังเรื่อง Interstellar คราวนี้รับบทเป็นกัปตันเมลิสซา ลิวอิส ผู้นำทีมสำรวจและมีหน้าที่ตัดสินใจสำคัญ ๆ เมื่อทีมพบกับปัญหาก็แสดงออกมาได้ดีและมีส่วนรับผิดชอบในการตัดสินของตัวเอง ส่วนนักแสดงคนอื่น ๆ เช่น เคท แมรา (Kate Mara ) รับบท เบธ โจแฮนส์เซน เคยมีผลงานการแสดงสำคัญ ๆ จากเรื่อง Transcendence (2014) และ Fantastic Four (2015) ซึ่งในเรื่องนี้อาจยังไม่มีบทบาทมากนัก ไมเคิล เปญา ( Michael Peña) มีผลงานการแสดงสำคัญ ๆ จากหนังเรือง Fury (2014) , Battle: Los Angeles (2011) คราวนี้รับบทนักบินอวกาศริค มาร์ติเนซ มีหน้าที่ควบคุมยานอวกาศ ชิวอิเทล เอจิโอฟอร์ (Chiwetel Ejiofor) มีผลงานการแสดงสำคัญ ๆ จากเรื่อง 2012 (2009) รับบทเจ้าหน้าที่นาซ่า วินเซนต์ กาปูร์ ที่พยายามหาทางช่วยนักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์จากบนโลก
ดาวอังคาร
หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดดาวอังคารออกมาได้สมบูรณ์แบบมากที่สุดแตกต่างจากหนังเรื่องอื่น ๆ ตรงที่ลงทุนไปถ่ายทำฉากดาวอังคารในทะเลทราย “วาดิราม” Wadi Ramm อยู่ทางตอนใต้ของประเทศจอร์แดน ทะเลทรายแห่งนี้มีสภาพเป็นที่ราบแห้งแล้งสลับกับภูเขาหินทรายและหินแกรนิต ดูเหมือนไร้ชีวิตและคล้ายกับดาวอังคารจนแทบแยกไม่ออก ถ้ามีใครซักคนในอนาคตเดินทางไปดาวอังคารเขาอาจจะพูดได้ว่า ผมเคยเห็นภาพแบบนี้ในหนังเรื่อง The Martian ดาวอังคารมีลักษณะเป็นทะเลทรายสีแดงที่หนาวเย็นเยือกแข็งอุณหภูมิที่ต่ำมากประมาณ −143 °C ส่วนอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 35 °C มันคือ นรกเยือกแข็งที่พร้อมจะฆ่าคุณได้ตลอดเวลา หากมีความผิดพลาดคุณจะกลายเป็นเนื้อกระป๋องแช่เเข็งภายในไม่กี่วินาที ซึ่งหนังเรื่องนี้อธิบายเอาไว้ให้เห็นชัดเจนถึงนรกเยือกเเข็งสีแดงแห่งนี้
ยานอวกาศและฐานสำรวจอังคาร
สำหรับคนที่ชื่นชอบยานอวกาศอาจยังไม่พบรูปแบบของยานอวกาศแปลกใหม่เพราะยาน Ares 3 ดูคล้ายกับยาวอวกาศในหนังไซไฟอื่น ๆ ตรงที่มีลักษณะเป็นแกนหมุนได้เพื่อสร้างแรงโน้มถ่วงด้วยการหมุนของยาน ยานอวกาศลักษณะนี้พบเห็นได้จากหนังไซไฟยุคเริ่มที่แรกที่เป็นตำนานอย่างเรื่อง 2001 พิชิตจักรวาล (2001 A Space Odyssey) สาเหตุที่ต้องสร้างแรงโน้มถ่วงจำลองขึ้นบนยานนั้นเนื่องจากหากมนุษย์อยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้การทำงานของร่างกายมีปัญหาระบบกระดูกจะเสื่อมลงการเดินทางไปดาวอังคารใช้เวลาหลายเดือนถ้าหากไม่สร้างแรงโน้มถ่วงจำลองจะส่งผลให้นักบินมีปัญหาในการปรับสภาพร่างกายเมื่อต้องลงไปเดินบนดาวอังคาร
หุ่นยนต์สำรวจ Pathfinder หรือ Sojourner Rover ที่ช่วยให้นักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์สามารถติดต่อกับโลกได้หุ่นยนต์ตัวนี้ถูกส่งไปดาวอังคารตั้งแต่ปี 1996 ซึ่งปัจจุบันหมดพลังงานและติดต่อครั้งสุดท้ายกับโลกเมื่อปี 1997 หลังเดินทางสำรวจอยู่บนผิวดาวอังคารเป็นระยะทางไม่ถึง 1 กิโลเมตรโครงการสำรวจดาวอังคารของ Mars rover ดำเนินการโดยโครงการ JPL (JPL’s Mars Exploration Rover) ซึ่งชื่อของโครงการนี้ก็พบในหนังเรื่อง The Martian สำหรับผ้ายางที่นักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์คุ้ยออกมาจากเนินบนดาวอังคารเป็นอุปกรณ์ลูกโป่งที่ช่วยในการลงจอดบนผิวดาวอังคารของหุ่นยนต์ Pathfinder
จุดทีน่าสนใจคือ ฐานสำรวจบนดาวอังคารซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเทคโนโลยีที่นาซ่ากำลังทดสอบพัฒนาอยู่ ฐานสำรวจนั้นจะถูกสร้างเอาไว้บนดาวอังคารก่อนที่นักบินอวกาศจะเดินทางไปถึงเพื่อให้นักบินอวกาศมีเวลาทำภาระกิจที่มากขึ้นเมื่อไปถึงดาวอังคาร โครงสร้างของฐานสำรวจที่เห็นในหนังมีลักษณะสำคัญ 2 ประเภท คือ สร้างจากแคปซูนชิ้นใหญ่และสร้างจากแคปซูนที่สามารถพองตัวเองได้คล้ายเต็นท์ขนาดใหญ่ ซึ่งสถานีสำรวจที่สามารถพองตัวเองนี้นักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์ได้ใช้เป็นห้องโถงหลักในการปลูกผักโดยนำดินบนดาวอังคารมาผสมกับอุจจาระและฉี่ของนักบินอวกาศในทีม ส่วนน้ำที่ใช้รดผักนั้นนำมาจากพลังงานของจรวดมาทำปฏิกิริยาทางเคมีให้กลายเป็นน้ำ เขาเป็นคนแรกที่ปลูกพืชสำเร็จบนดาวอังคาร
มุมมองต่าง ๆ ให้ขบคิด
หนังได้ทิ้งปมสงสัยไว้ให้ผู้ที่ชื่นชอบในเรื่องของวิทยาศาสตร์ได้ไปค้นข้อมูลต่อ เช่น พายุบนดาวอังคารที่เข้าถล่มฐาน ? บาดแผลที่นักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์โดนเสาอากาศแทงบนดาวอังคารจะรอดได้ยังไง ? การปลูกผักบนดาวอังคารจากดินที่เปื้อนรังสีจากอวกาศ ? หลังจากฐานระเบิดนักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์ใช้แค่ถึงพลาสติกปิดรอยรั่วและปรับความดันได้จริงหรือ ? ฉากตอนจบที่นักบินอวกาศมาร์ค วัทนีย์เจาะชุดอวกาศตัวเองซึ่งความจริงแล้วหากชุดอวกาศมีรอยรั่วจะทำให้นักบินอวกาศตายในกี่วินาที ? ในสภาพทะเลทรายนรกเยือกแข็งบนดาวอังคารสิ่งต่าง ๆ ที่หนังนำเสนอออกมาทิ้งปมปัญหาให้ค้นข้อมูลต่อนี่อาจเป็นความสนุกอีกมุมหนึ่งของหนังเรื่องนี้
ความสำคัญของการมีชีวิตอยู่และการแก้ปัญหา เมื่อพบกับปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาชีวิตรอดคุณจะต้องแก้ปัญหานั้นให้ได้ เริ่มจากแก้ปัญหาหนึ่งไปสู่การแก้ปัญหาต่อไปเรื่อยจนกว่าจะพบคำตอบ อย่าหมดหวังและอย่าเพิ่งสติแตกทุกอย่างมีทางออก ชีวิตมีค่าสิ่งที่พบเจอสามารถถ่ายทอดไปยังคนรุ่นต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้ใครก็ตามมาพบกับปัญหาแบบที่คุณเจอ โลกเป็นดินแดนที่สวยงามแต่ไม่ใช่ดินแดนสุดท้ายที่มนุษย์จะใช้ชีวิตและสูญพันธุ์ มนุษย์มีลักษณะพื้นฐาน คือ ความรักในการสำรวจมนุษย์ไม่เคยหยุดสำรวจและหาดินแดนใหม่ แม้ว่ามันจะยากและไกลแสนไกลมากแค่ไหนก็ตาม มนุษย์เป็นสายพันธุ์ของนักสำรวจและพิชิตอวกาศ
“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” The Martian เดอะมาร์เชี่ยนกู้ตาย 140 ล้านไมล์ ถ่ายทอดเรื่องราวการสำรวจดาวอังคารออกมาได้อย่างสนุกและใกล้เคียงกับเทคโนโลยีปัจจุบันของนาซ่า สำหรับคนที่ชื่นชอบหนังไซไฟและวิทยาศาสตร์อวกาศไม่ควรพลาดหนังเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้กำกับ นักแสดง เนื้อเรื่อง คะแนนจากเว็บไซต์ในประเทศและต่างประเทศ การันตีความคุ้มค่าในการเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ ซื้อตั๋ว The Martian เดอะมาร์เชี่ยนกู้ตาย 140 ล้านไมล์ แล้วไปดาวอังคารกันครับ
ที่มาของข้อมูล
www.nasa.gov , Pantip.com , en.wikipedia.org/wiki/The_Martian_(Weir_novel) , en.wikipedia.org/wiki/Andy_Weir_(writer) , en.wikipedia.org/wiki/Mars , en.wikipedia.org/wiki/Wadi_Rum , en.wikipedia.org/wiki/Matt_Damon , en.wikipedia.org/wiki/Jessica_Chastain , blogs.indiewire.com , www.facebook.com/Andy-Weir , www.narit.or.th , ARES: live