ชวนดูหนังแบบคอไซไฟ – ALIEN จตุภาค
ชวนดูหนังแบบคอไซไฟ – ALIEN จตุภาค
4….
ทุกอย่างมาถึงทางตัน เมื่อบทหนังสยองขวัญอวกาศที่ยังเขียนไม่เสร็จของแดน โอ’แบนนอน ค้างเติ่งตรงที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้สัตว์ประหลาดแฝงตัวขึ้นมาอยู่บนยานได้แบบเนียนๆ ก่อนอาละวาดฆ่าล้างบางลูกเรือบนยาน แต่แล้วรอน ชูเซ็ตต์(ก่อนที่จะได้เครดิตผู้ร่วมเขียนบท) ก็สะดุ้งตื่นด้วยฝันร้ายสยดสยอง – ตัวประหลาดเกาะหน้าไม่ยอมปล่อย แถมยังพยายามสอดท่อเข้าไปในลำคอของเขาเพื่อปล่อยเมล็ดพันธุ์ …จากนั้นไม่นาน’วงจรชีวิต’ที่น่าตื่นตะลึงที่สุดในโลกไซไฟ ก็บรรจบวัฏจักร
3…
ต้องขอบคุณริดลีย์ สก็อตต์ ที่ยืนกรานกับนายทุนว่า ALIEN(1979) จะต้องมีองค์สี่ หรือฉากแอนตี้ไคลแม็กซ์ในยานชูชีพ มันเต็มไปด้วยนัยแห่งการปะทะกันระหว่างสปีชีส์ เมื่อสัตว์นรกไม่พุ่งเข้ามาแต่กลับเลือกนอนขดอยู่นิ่งๆ ณ มุมเดิม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพื่อเข้าสู่ภาวะจำศีล /รอความตายตามธรรมชาติ /ไม่รับรู้ว่ามนุษย์ตรงหน้าคือศัตรู ฯลฯ ตรงกันข้ามกับสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดของเอลเลน ริปลีย์ ที่ยังทำงานในระดับติดเพดาน ก่อนจะกลายเป็นข้อถกเถียงตลอดประวัติศาสตร์ของแฟรนไชส์ควบคู่มากับปริศนาต้นกำเนิดสายพันธุ์อสูร นั่นคือ เหตุใดเอเลี่ยนจึงไม่โจมตีริปลีย์ ?
ความสนุกอีกอย่างหนึ่งในการนั่งชมหนังชุดนี้ คือการเฝ้ามองงานสังสรรค์ไอเดียจากคนทำที่เปลี่ยนตัวกันไปในแต่ละภาค เริ่มต้นด้วยการที่เจมส์ คาเมรอนเปลี่ยน ALIENS(1986) ให้พลิกองศาเป็นหนังแอ็คชั่นสงครามเต็มอัตรา “ส่วน Alien³ (1992) ก็ถูกย้อมด้วยสไตล์ฟิลม์นัวร์ของ เดวิด ฟินเชอร์” ก่อนจะปิดท้ายด้วยลูกเล่นแบบนีโอพังค์อันแพรวพราวของ ฌอง-ปิแอร์ เณอเนต์ ใน Alien Resurrection(1997) – หนังชุดนี้อาจจะถูกค่อนขอดว่ามีคุณภาพลดหลั่นกันไปในแง่ศิลปะภาพยนตร์ แต่อีกด้าน พูดเป็นอื่นไม่ได้ว่านี่คือประจักษ์ผลงานในยุคแรกๆ ของบรรดาคนทำหนังที่ล้วนแล้วกลายมาเป็นบุคลากรคนสำคัญ หรือในบางราย กระทั่งพลิกโฉมวงการภาพยนตร์
อันที่จริง ‘เอเลี่ยน’ ได้ปฏิวัติวงการตั้งแต่ในงานออกแบบ จากการสร้างสรรค์ของศิลปินชาวสวิส เอช. อาร์. กีเกอร์ และยังไม่รวมที่ ริดลีย์ สก็อตต์ ถอดภาพจิตรกรรมแอร์บรัชของกีเกอร์ที่ชื่อ Necronomicon V ออกมาเป็นฉากซากมนุษย์ต่างดาวขนาดมหึมาในห้องโถงอันโด่งดัง(ซึ่งสก็อตต์ให้ชื่อว่า space joggy)คงมีน้อยคนที่มองแล้วจะไม่รู้สึกคล้ายกำลังประจัญหน้ากับความยิ่งใหญ่ ลึกลับหลอกหลอน เกินจินตนาการ และติดตาตรึงใจไปในขณะเดียวกัน
2..
จุดพลิกผันแท้จริงในหนังภาคสองอยู่ตรงที่ เมื่อริปลีย์พบว่าชาวอาณานิคมคนสุดท้ายที่เหลือรอดชีวิตคือเด็กหญิง สวิตช์สัญชาตญาณความเป็นมารดาก็ถูกกดเปิดทันที ด้วยเหตุที่ศัตรูคือฝูงอสูรกายที่สามารถฆ่าล้างดาวได้ทั้งดวง รวมถึงวาระซ่อนเร้นของตัวแทนจากองค์กรมืดที่จ้องแสวงผลประโยชน์จากอสูรกาย ด้วยเหตุนี้ การปรากฏตัวของนางพญาเอเลี่ยนในช่วงไคลแม็กซ์จึงไม่ใช่เพียงเพื่อหวังผลฉากแอ็คชั่นหรือแค่การเติมเต็มวงจรชีวิตของสปีชีส์ ที่มีนางพญา(ทำหน้าที่วางไข่) > ตัวนำเพาะตัวอ่อน(’ตัวเกาะหน้า’หรือ facehugger – ส่งตัวอ่อนเข้าไปในร่างของเหยื่อที่พบ) > ตัวอ่อนจริง(‘ตัวเจาะอก’ หรือ chestbuster ) > ตัวเต็มวัย แต่มันยังนำไปสู่คำอธิบายด้านจิตวิทยาอันหนักแน่น นั่นคือในแง่หนึ่ง นางพญาก็คือผู้ทดสอบว่าเธอมีความเหมาะสมในการเป็น ’แม่’ จริงหรือไม่? ก่อนที่ในภาคถัดมาจะแสดงให้เห็นว่าริปลีย์นั้นเกินกว่าคำว่าเหมาะสม เพราะตัวอ่อนที่ฟักอยู่ในตัวของเธอก็คือ นางพญา
1.
ในภาคสุดท้าย ความกระเหี้ยนกระหือรือและคาดหวังให้สายพันธุ์เอเลี่ยนถูกสร้างเป็นอาวุธชีวภาพมหาประลัยขององค์กร ก็นำริปลีย์กลับคืนมาจากความตาย ในแง่พล็อตต้องถือว่าเป็นไอเดียสร้างสรรค์ เมื่อหนังต่อยอดว่าทางเดียวที่การเพาะเลี้ยงสายพันธุ์เอเลี่ยนจะเกิดขึ้นได้ต้องมีนางพญา …ที่อยู่ในดีเอ็นเอของริปลีย์ ในขณะที่ริปลีย์’แปด’ซึ่งถูกผ่าเอานางพญาออกจากตัว ก็มีสายเลือดของเอเลี่ยนไหลเวียนอยู่ นำไปสู่ไคลแม็กซ์ที่น่าตื่นตะลึงในตอนจบ
เมื่อ ‘ลูกผสม’ ที่เกิดจากนางพญาซึ่งมีสัณฐานของใบหน้าเป็นรูปกะโหลกมนุษย์ (และหากจะนับญาติกันจริงๆ ก็อาจลำดับได้ว่ามันมีศักดิ์เป็น’หลานยาย’ของริปลีย์) ลงมือสังหารผู้ให้กำเนิดตัวมันเองในไม่กี่วินาทีหลังคลอดออกจากครรภ์ของนางพญาโดยตรง หากโดยผิวเผิน มันแสดงให้เห็นว่าการสันนิษฐานคาดเดา หรือทำความเข้าใจรูปแบบชีวิตของเอเลี่ยนนั้นแทบเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง แต่โดยบริบท มันสะท้อนว่านี่คือพัฒนาการอีกขั้นของสายพันธุ์ เมื่อลูกอสูรที่มีดีเอ็นเอของมนุษย์ปะปน มองเห็นแม่แท้ๆ ของมันเป็นสิ่งที่เกินจะยอมรับได้
ฉากตัดสินสุดท้ายระหว่างเธอกับเอเลี่ยนลูกผสมในภาคปัจฉิม จึงเป็นการคารวะการตัดสินใจของริปลีย์’ตัวจริง’ในฉากแอนตี้ไคลแม็กซ์ในภาคแรก นั่นคือถึงแม้เธอซึ่งเป็นร่างโคลนจะเกิดความเมตตาอยู่ลึกๆ อาจจะโดยตระหนักรู้ว่ามีความผูกพันอยู่ในสายเลือด แต่ก็ไม่อาจจำนนต่อสัญชาตญาณอีกแบบในตัว ซึ่งเป็นยิ่งกว่าสัญชาตญาณความเป็นแม่ นั่นคือกลไกป้องกันตัวพื้นฐาน ที่บอกว่า ไม่ว่าอย่างไรทั้งสองเผ่าพันธุ์ก็ไม่มีทางผูกมิตรหรืออยู่ร่วมโลก และหากนี่คือสิ่งบ่งชี้ว่า เหตุใดอสูรนรกซึ่งอาจจะสยบดาวเคราะห์มานับไม่ถ้วน จึงไม่สามารถทำลายเธอลงได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้วละก็
เท่ากับว่าหนังทั้งสี่ภาค แท้จริงคือเรื่องราวการทดสอบความเป็น’มนุษย์’ของผู้หญิงที่ชื่อ เอลเลน ริปลีย์