กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์ (Three Laws of Robotics)

กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์ (Three Laws of Robotics) โดยสุดยอดปรมาจารย์นิยายวิทยาศาสตร์นาม “ไอแซก อาซิมอฟ” (Isaac Asimov) ได้บัญญัติไว้ ในนวนิยายต่างๆของเขา อาทิชุดขึ้นหึ้งอย่าง The Foundation, i Robot และ Bicentennail Man ฯลฯ โดยเฉพาะถ้าใครเคยดู ภาพยนตร์ i Robot น่าจะจำกันได้ดี กฏ 3 ข้อนี้ถูกกล่าวขึ้น ตั้งแต่ตอนเปิดเรื่องเลย ดังนี้

กฏข้อ 1. หุ่นยนต์มิอาจกระทำการอันตรายต่อผู้ที่เป็นมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้ที่เป็นมนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้(A robot may not harm a human being, or, through inaction, allow a human being to come to harm.)

กฏข้อ 2. หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ได้รับจากผู้ที่เป็นมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นๆ ขัดแย้งกับกฎข้อแรก(A robot must obey the orders given to it by human beings, except where such orders would conflict with the First Law.)

กฏข้อ 3. หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นมิได้ขัดแย้งต่อกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง(A robot must protect its own existence, as long as such protection does not conflict with the First or Second Law.)

และต่อมาในนิยายภาคหลังๆเพื่อความปลอดภัยของมนุษย์ในวงกว้างและลึกมากขึ้นไปอีก จึงได้มีการเพิ่ม กฎข้อ 0 ลงไป คือ…

กฏข้อ 0. หุ่นยนต์มิอาจกระทำการอันตรายต่อมนุษยชาติ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้มนุษยชาติตกอยู่ในอันตรายได้(A robot may not injure humanity, or, through inaction, allow humanity to come to harm.)โดยการกระทำตามกฎข้อ 1, 2 และ 3 จะต้องไม่ขัดกับกฎข้อ 0 นี้…สิ่งที่เพิ่มเติมจากกฏ 3 ข้อเดิมก็แค่คำ “Humanity” มนุษยชาติ-เผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งมวล

สำหรับกฏทั้ง 3 ข้อ + ข้อ0 ข้างต้นนี้ จะเห็นว่า หุ่นยนต์มิอาจทำร้ายมนุษย์ได้เลย เพราะเงื่อนไขระหว่างกฎข้อต่างๆได้บล๊อคหุ่นยนต์ในการทำอันตรายต่อมนุษย์ไว้หมดแล้ว และในกรณีของการดูแลปกป้องมนุษย์ให้พ้นอันตรายหากเป็นเหตุการณ์ทั่วๆไปหุ่นยนต์ก็คงปฎิบัติงานได้ง่ายดายไม่มีปัญหา…แต่ถ้าเกิดเหตุกรณีมนุษย์ทำร้ายมนุษย์กันเองจะด้วยเหตุอันใดก็ตามที อาจจะเป็นโจรมาปล้น ฆ่าข่มขืน ทะเลาะวิวาท หรือ สงคราม! ฯลฯ ยังสงสัยอยู่ว่ากรณีนี้หุ่นยนต์ที่อยู่ในเหตุการณ์จะทำอย่างไร? มนุษย์ที่กำลังต่อสู้ป้องกันตัว-ทำร้ายกันแต่ละฝ่ายอาจสั่งให้หุ่นยนต์ของตนทำการปกป้องหรือต่อสู้เพื่อตน โดยสั่งให้หุ่นยนต์ไปกำจัดหรือทำให้อีกฝ่ายบาดเจ็บ! หุ่นยนต์คงได้แต่นิ่งด้วยความสับสนมึนงง! เครื่องแฮงค์ไปเลย…เพราะ

– ถ้าหุ่นยนต์ช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะเกิดการขัดแย้งผิดกฎ ตีกันไปๆมาๆระหว่างกฏ 1.และ2., 2.และ1. รวมทั้งกฎข้ออื่นๆ(ลองย้อนไปพิจารณาดู) นั้นคือ ถ้าเชื่อฟังมนุษย์อันเป็นเจ้าของตน ก็มีโอกาสที่จะทำร้ายหรือทำให้มนุษย์อีกฝ่ายได้รับอันตรายบาดเจ็บได้

– กรณีถ้าไม่ช่วย ก็จะขัดแย้งผิดกฏข้อ 2., 1. และกฎที่เหลือเหมือนเดิม เพราะไม่เชื่อฟังคำสั่งมนุษย์และปล่อยให้อยู่มนุษย์อยู่ในอันตราย จะมีทางออกใดบ้างให้หุ่นยนต์?

และข้อสังเกตอีกอย่าง ในกรณี กฎข้อที่ 3. หากมนุษย์พาลจะกลั่นแกล้ง-ทุบตีทำร้ายหุ่นยนต์โดยตรง สมมุติหุ่น Android เพศหญิง มนุษย์วิปริตบางคนอาจเกิดทะลึ่งจะลวนลาม-ข่มขืน! (คิดไปนั้น) หุ่นยนต์จะทำยังไง? จะต่อสู้-ตอบโต้ให้เจ็บตัวก็ไม่ได้ เพราะ กฎ ทุกข้อ ได้บล็อกการตอบโต้มนุษย์ไว้เสียขนาดนั้น เห็นทีคงต้องหนีเอาตัวรอดท่าเดียว หรือถ้าหนีไม่ทันก็ต้องนิ่งเลยตามเลย (แต่ในหนัง อย่าง “i robot” หุ่นยนต์ก็หายึดกฎเคร่งครัดไม่ เนื่องจากเห็นว่ามนุษยชาติเชื่อถือไม่ได้ แหลวแหลกเกินเยียวยา จึงทำการกบฏ! ยึดอำนาจ ปกครองมนุษย์เสียเลย!)

กฏของหุ่นยนต์ 3ข้อ และกฏข้อ 0 นี้เอง ในนิวนิยายวิทยาศาสตร์ชุด สถาบันสถาปนา (The Foundation) ภาคหลังๆ ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญส่งผลให้ หุ่นยนต์ เกิดการแตกแยกแบ่งฝักข้างเป็น 2 พวก คือพวกหนึ่งยึดถือกฏ 3 ข้อเป็นหลัก อีกพวกยึดข้อเดียวคือข้อ 0 อันก่อเกิดเป็นการแบ่งนิกายของพวกหุ่นยนต์เลยทีเดียว ! โดยถ้าสังเกตความแตกต่างอันเป็นหัวใจหลักของกฏ 3 ข้อ และกฏข้อ 0 แล้ว จะพบว่ามันอยู่ที่คำ ‘มนุษยชาติ’ ซึ่งกว้างกว่า ‘มนุษย์’ เฉยๆในกฏ 3 ข้อเดิม ดังนั้นถ้ายึดกฎข้อ 0 ข้อเดียวเท่านั้น จึงอาจตีความดิ้นได้ไปอีกนัยคือ ในสถานการณ์ล่อแหลมจำเป็นจริงๆอาจสามารถทำร้ายหรือฆ่า! มนุษย์บางคนก็ได้ เพื่อปกป้องรักษาความปลอดภัยของ มนุษยชาติ ทั้งมวล

ปล. สำหรับ นวนิยายชุด สถาบันสถาปนา นี้จัดว่าเป็นสุดยอดมหากาพย์ ไซ-ไฟ แห่งยุค ด้วยจินตนาการอันบรรเจิดในเรื่องราวของ เทคโนโลยี-นวัตกรรม และขาดไม่ได้คือ หุ่นยนต์ อันส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษยชาติแห่งโลกอนาคต ผนวกกับการสะท้อนแง่คิดนัยยะความเป็นจริงในสังคมมนุษย์ปัจจุบันหลายๆด้านอย่างล้ำลึกแยบยลไม่ว่าจะด้านสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง, สงคราม, การพาณิชย์, ศิลปะ, ปรัชญา ฯลฯ หากมีโอกาส-มีเวลา ลองหามาเสพดูนะครับ ข่าวดีคือเคยมีแปลไทยครบชุดแล้วโดย สำนักพิมพ์ Porvision แต่ปัจจุบันอาจหายากหน่อย

ที่มาของข้อมูล
นักเขียนจากเพจ สนทนาไซ-ไฟ , exmachina-movie.com

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *