สิ้นสุดภารกิจสำรวจดาวอังคารของยาน Opportunity หลังทำภารกิจนาน 15 ปี
นาซายุติการปฏิบัติภารกิจของยาน Opportunity หลังจากยานสำรวจลำนี้ลงจอดบนดาวอังคารตั้งแต่ปี 2004 และปฏิบัติภารกิจยาวนานกว่า 15 ปี โดยนาซาได้ติดต่อกับยาน Oportunity ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2018 ที่ผ่านมาก่อนที่พายุบนดาวอังคารจะพัดเข้าปกคลุมบริเวณพื้นที่สำรวจของยานและขาดการติดต่อกับยานไป ถือเป็นภารกิจ 15 ปีที่เหนือความคาดหมายจากแผนการเดิมที่ยาน Opportunity จะปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารเพียง 92.5 วันเท่านั้น
เป้าหมายการสำรวจดาวอังคารของยาน Opportunity
ยาน Opportunity มีเป้าหมายการสำรวจพื้นผิวดาวอังคารบริเวณที่คาดว่าจะเป็นร่องทางน้ำเก่าบนดาวอังคาร กระบวนการตกตะกอนของแร่ ภูมิประเทศการกัดเซาะของน้ำหรือลมบนดาวอังคาร ค้นหาหลักฐานทางธรณีวิทยาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร รวมไปถึงการทดสอบเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการสำรวจดาวอังคาร
ยานสำรวจ Opportunity
ยาน Opportunity เป็นยานที่มีลักษณะเป็นหุ่นยนต์รถสำรวจ ภายใต้โครงการรถสำรวจดาวอังคาร Mars Exploration Rover (MER) โดยใช้หุ่นยนต์รถสำรวจ 2 ตัวที่มีลักษณะเหมือนกันชื่อ MER-A หรือ Spirit และ MER-B หรือ Opportunity โครงการอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ JPL หน่วยงานด้านอวกาศของนาซา ระยะเวลาโครงการสำรวจกินเวลายานนานกว่า 15 ปีในช่วงปี 2004-2018
ยาน Opportunity เคลื่อนที่ด้วยล้อทั้งหมด 6 ล้อขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ ไฟฟ้า ยานมีความสูงของยานประมาณ 1.5 เมตร กว้าง 2.3 เมตร ยาว 1.6 เมตร มีน้ำหนักรวมประมาณ 180 กิโลกรัม ใช้ลิเทียมแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ยานติดตั้งกล้องถ่ายภาพพื้นผิวดาวอังคารแบบ Panoramic Camera (Pancam) สามารถถ่ายภาพมุมกว้างได้กว่ากล้องปกติทั่วไป
ออกเดินทางจากโลกและพื้นที่สำรวจบนดาวอังคาร
ยาน Opportunity ออกเดินทางจากโลกในวันที่ 7 กรกฏาคม ค.ศ. 2003 โดยใช้จรวดขนส่ง Delta II จากฐานปล่อยจรวด SLC-17B แหลมคานาเวอรัล ยานใช้เวลาเดินทางไปดาวอังคารเกือบ 7 เดือนบนอวกาศก่อนลงจอดบนดาวอังคารในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2004 บริเวณที่ราบ Meridiani Planum ทางตอนใต้ของเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการว่าพื้นที่บริเวณนี้อาจมีน้ำในสถานะของเหลว น้ำพุโบราณและเคยมีสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยน้ำปกคลุม
หลังจากลงจอดบนดาวอังคารยาน Opportunity สามารถเดินทางบนดาวอังคารได้เป็นระยะทางกว่า 45.16 กิโลเมตรไกลกว่าระยะทางวิ่งของนักวิ่งมาราธอน ยานเคลื่อนที่อย่าง ๆ ช้าโดยการป้อนคำสั่งเป็นช่วง ๆ จากผู้ควบคุมบนโลกเพราะข้อจำกัดด้านการเดินทางของสัญญาณคำสั่งที่ต้องใช้เวลาเดินทางจากโลกไปดาวอังคาร
ในปี 2005 ยาน Opportunity เดินทางถึงแอ่ง Endurance ที่อยู่ห่างจากจุดลงจอดไม่ถึง 5 กิโลเมตรและค้นพบชิ้นส่วนของอุกกาบาตที่เคยตกลงบนดาวอังคารเมื่อหลายล้านปีก่อน นาซ่าตั้งชื่อก้อนหินนี้ว่า Heat Shield Rock
ในปี 2007 ยาน Opportunity เดินทางถึงแอ่ง Victoria ที่มีความกว้างประมาณ 750 เมตรลึกประมาณ 70 เมตร ยาน Opportunity ใช้วิธีวิ่งลัดเลาะบริเวณขอบของแอ่ง Victoria โดยไม่ลงไปในพื้นด้านในของแอ่ง ยานได้ถ่ายภาพมุมกว้างที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนซึ่งรวมไปถึงหลุมอุกกาบาตขนาดเล็กที่อยู่ในบริเวณแอ่ง Victoria
ในปี 2011 ยาน Opportunity เดินทางเข้าใกล้บริเวณแอ่ง Endeavour ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้มีขนาดใหญ่กว่ากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐ ยานใช้วิธีวิ่งลัดเลาะบริเวณขอบของแอ่ง Endeavour จนกระทั่งติดต่อกับโลกครั้งสุดท้ายในปี 2018
ยานสำรวจ Spirit คู่แฝดของยาน Opportunity
หลังจากจรวด Delta II นำยาน Opportunity เดินทางขึ้นอวกาศได้ 3 วัน จรวด Delta II อีกลำได้ส่งยาน Spirit ตามขึ้นในวันที่ 10 กรกฏาคม ค.ศ. 2003 จากฐานปล่อยจรวด SLC-17A แหลมคานาเวอรัล ยาน Spirit เดินทางถึงดาวอังคารก่อนยาน Opportunity และลงจอดบนดาวอังคารในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 2004 บริเวณแอ่ง Gusev ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าพื้นที่บริเวณนี้อาจเป็นทะเลสาบเมื่อหลายล้านปีก่อน
ต่อมานาซ่าตั้งชื่อบริเวณพื้นที่ลงจอดของยาน Spirit ว่า Columbia Memorial Station ตามชื่อกระสวยอวกาศโคลัมเบียที่ระเบิดขณะเดินทางกลับโลกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 และคล่าชีวิตนักบินอวกาศทั้ง 7 คน รวมไปถึงตั้งชื่อเนินเขา 7 ลูกในบริเวณนั้นตามชื่อนักบินอวกาศทั้ง 7 คน
หลังจากยาน Spirit ทำภารกิจบนดาวอังคารนาน 6 ปีก็พบจุดจบในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 จากยานเคลื่อนที่ไปตกหลุมทรายบนดาวอังคารทำให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ของยานไม่สามารถผลิตพลังงานได้เพียงพอและยานก็ขาดการติดต่อกับโลกไปในที่สุด
ตลอดระยะเวลา 15 ปีของภารกิจสำรวจดาวอังคาร Mars Exploration Rover (MER) ยาน Spirit และยาน Opportunity สามารถส่งข้อมูลภาพถ่ายบนดาวอังคารรวมกันกว่า 342,432 ภาพรวมไปถึงข้อมูลอื่น ๆ มากมายที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าใจลักษณะทางธรณีวิทยาสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารได้มากขึ้น
พายุทรายบนดาวอังคารจุดจบยาน Opportunity
หลังใช้เวลาเดินทางสำรวจบนดาวอังคารนานเกือบ 15 ปียาน Opportunity ก็พบจุดจบเมื่อต้องเผชิญกับพายุทรายบนดาวอังคารในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 บริเวณแอ่ง Perseverance ภายในพื้นที่บริเวณขอบของแอ่ง Endurance ห่างจากจุดที่เรียกว่า Marathon Valley ประมาณ 2.5 กิโลเมตร นาซ่าได้ส่งคำสั่งให้ยานเตรียมรับสภาพความรุนแรงของพายุ เมื่อพายุสงบลงนาซ่าพยายามติดต่อยานหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้รับสัญญาณตอบรับ จนกระทั่งประกาศยุติภารกิจสำรวจดาวอังคารของยาน Opportunity ในที่สุด
คลิปปฏิบัติการสำรวจดาวอังคารของยาน Opportunity
ที่มาของข้อมูล
Six Things to Know About NASA’s Opportunity Mars Rover
Rover Reports