ชวนดูหนังแบบคอไซไฟ 2001 : a space odyssey (1968)
2001 : a space odyssey (1968)
– เล่าเรื่อง –
เมื่อหนังเสียดสีสงครามเย็นเรื่อง Dr. Strangelove ออกฉายและประสบความสำเร็จอย่างล้มหลาม สแตนลีย์ คูบริค ก็มองหาโปรเจ็คต์ที่น่าจะดึงดูดให้เริ่มงานใหม่ทันที ในยุคที่การสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ไม่เพียงพอต่อการสร้างความเชื่อมั่นอีกต่อไป สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจึงพร้อมใจกันหันเหการแผ่อิทธิพลสู่ความเป็นไปได้นานัปการนอกวงโคจร แต่อย่างที่รู้กันในภายหลังว่า คนอย่างคูบริคนั้นมีวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อจารีตของยุคสมัย นั่นคือแทนที่เราจะได้หนังอวกาศแนวผจญภัยแฟนตาซีล้ำยุคอีกเรื่อง(ซึ่งคงจะดูเชยเมื่อเวลาผ่านพ้น) กลับเป็นหนังอวกาศ ซึ่งผู้ชมส่วนใหญ่ไม่ปลื้มในตอนออกฉาย ก่อนกลายมาเป็นตำนานในปีค.ศ.ปัจจุบัน
เนื้อเรื่องในหนัง ซึ่งเป็นการแชร์ความคิดและดำเนินไปพร้อมๆ กันระหว่างงานสร้างหนังและการประพันธ์หนังสือนิยายชื่อเดียวกันโดย อาเธอร์ ซี. คล้าก – อาจสรุปความรวบรัดได้ดังนี้ หนังเริ่มต้นด้วยภาพการเรียงตัวของดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์ที่กำลังโผล่พ้นขอบกลางฉากดำสนิทของอวกาศ คลอกระหึ่มกับเพลง Thus Spoke Zarathustra ของริชาร์ด สเตร้าสส์ เป็นบทนำที่ฮึกเหิมและตราตรึง ก่อนเข้าสู่ซีเควนซ์แรกของหนังที่มีชื่อว่า The Dawn of Man (รุ่งอรุณของมนุษย์) แท่งหินลึกลับที่ปรากฏขึ้นโดยไร้ที่มาใกล้ถ้ำของฝูงลิงดึกดำบรรพ์ มีผลให้พวกมันพัฒนาการแบบก้าวกระโดด และกลายมาเป็นต้นกำเนิดของสายพันธุ์มนุษย์โฮโมเซเปียน ก่อนจะนำเข้าซีเควนซ์ถัดมาด้วยภาพ jump cut ‘แท่งกระดูก/ยานอวกาศ’ อันน่าตื่นตะลึง บัดนี้ มนุษย์ได้ขยายเส้นทางคมนาคมออกสู่นอกวงโคจร และ TMA-1 ก็คือชื่อรหัสเรียกวัตถุปริศนาที่ถูกขุดพบใต้พื้นผิวดวงจันทร์ มันคือแท่งหินดำสนิทที่มีสัณฐานแบบเดียวกันกับในตอนที่แล้ว และการวิเคราะห์บ่งชี้ว่ามันถูกฝังไว้ใต้ชั้นหินมายาวนานถึงสี่ล้านปี
ซีเควนซ์ที่สาม – Jupiter Mission ดูเหมือนจะเป็นช่วงที่ถูกอ้างอิงในแง่ภาพจำมากกว่าทุกตอนที่เหลือ เล่าถึงการเดินทางของลูกเรือห้านายบนยานดิสคัฟเวอร์รี่ วัน สู่ภารกิจลับสุดยอดบริเวณดาวพฤหัส เจาะจงสำหรับภาพรวมในตอนนี้ แม้ว่าพล็อตจะเรื่องเปิดโอกาสให้คนทำหนังได้โชว์จินตนาการถึงประดิษฐกรรมล้ำยุครวมถึงปัจจัยด้านงานท่องอวกาศต่างๆ ได้เท่าที่โปรดัคชั่นในยุคนั้นจะเอื้ออำนวย แต่หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า 2001 คือหนังซึ่งออกฉายก่อนที่นีล อาร์มสตรองจะเหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์หนึ่งปีเต็ม มันจึงพูดเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า นี่คือผลงานของอัจฉริยะ
แต่เซอร์ไพรส์ขนาดมหึมาไม่ได้อยู่ในงานโปรดัคชั่น เท่ากับพล็อตรองซึ่งว่าด้วยคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ผู้ช่วยลูกเรือ นาม HAL 9000 หรือ ’ฮัล’ – ที่อวดอ้างสรรพคุณตนเองอย่างภาคภูมิใจว่ามันไม่เคย และไม่มีวันคำนวณผลผิดพลาด แต่แล้ว จู่ๆ ก็ประกาศตัวว่าถือไพ่เหนือกว่า และแล้วชะตากรรมของลูกเรือมนุษย์ทุกคนบนยานก็ตกอยู่ในกำมือของมันโดยสิ้นเชิง
เคยพูดกันว่าพล็อตในส่วนที่สามคือจุดสูงสุดของเส้นกราฟการเล่าเรื่อง แต่ทุกวันนี้ ซีเควนซ์ที่สี่ซึ่งนับเป็นลำดับสุดท้าย – Jupiter and Beyond the Infinite ก็ได้รับการสดุดีมากขึ้นในแง่ที่ว่า มันคือการสรุปจบที่ชวนตื่นตะลึง หลอกหลอน และยากต่อการทำความเข้าใจในห้วงเวลาสั้นๆ ทว่ากลับติดตรึงอยู่ในมโนภาพของคนดู
เมื่อผ่านพ้นวิกฤตบนยานมาได้ ลูกเรือคนเดียวที่เหลือรอดก็สามารถเดินทางมาถึง หลังล่วงรู้ถึงภารกิจลับที่ถูกปกปิดโดยคอมพิวเตอร์ฮัล นั่นคือ การตามหาเป้าหมายของสัญญาณต้นทาง ที่แผ่ออกมาจากแท่งหินปริศนาบนดวงจันทร์ และสัญญาณได้ถูกส่งมาถึงสถานีปลายทางบริเวณวงโคจรของดาวพฤหัส ก่อนจะพบว่าสถานีรับสัญญาณดังกล่าวก็คือ แท่งหินปริศนา’อันสุดท้าย’ ที่กำลังล่องลอยอยู่ในห้วงอวกาศอันเวิ้งว้าง…
– ชวนถก –
1. แท่งหินปริศนาสีดำสนิท (ในนิยายเรียกขานว่า monolith) แท้จริงคืออะไร? ในแง่พล็อต ช่องว่างที่เหลือไว้ให้ผู้ชมเติมเต็มได้เองนั้นให้ประโยชน์ในแง่บริหารจินตนาการ ดังนั้นมันจึงอาจเป็นอะไรก็ได้ในความคิดคำนึงของคนดู โดยต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่า มันเปลี่ยนวานรมังสวิรัติให้รู้จักใช้อาวุธและออกล่าสัตว์อื่น(รวมถึงเข่นฆ่าจ่าฝูงคู่อริ) ส่วนอีกแท่งที่พบในอีกสี่ล้านปีต่อมาในยุคที่อารยธรรมมนุษย์เจริญรุดหน้า ก็เป็นตัวผลักดัน หรือจะมองในอีกมุมว่า บีบบังคับ – ให้มนุษย์ต้องเคินทางไปเผชิญกับคำถามใหม่ๆ ต่อไปอีก ทีนี้เมื่อนำการพิจารณาในเชิงปรัชญาดังกล่าวมารวมเข้ากับบริบททางสังคม เคยมีข้อสังเกตที่แม้จะฟังดูตลกในทีแรกแต่ก็ยากจะยืนกรานคัดค้านว่า รูปทรงสัณฐานของโมโนลิธนี้ สามารถสวมทับกับรูปทรงของอุปกรณ์ที่ได้ชื่อว่า’เปลี่ยนโลก’ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน เป็นต้นว่า รีโมทโทรทัศน์ ,เครื่องวิดีโอเกม Playstation (รุ่น 2 เป็นต้นไป) และแน่นอน – สมาร์ทโฟน ทั้งหลาย
จึงเป็นไปได้ไหมว่า แท่งหินปริศนาคือสัญลักษณ์นิยามของวัตถุแปลกปลอม ก่อนในที่สุดจะก้าวล่วงกลายมาเป็นส่วนหนึ่ง หรือกระทั่งเข้าควบคุม – ครอบงำ โดยไม่อาจต้านทาน?
2.ช่วยไม่ได้ที่ ‘การสู้รบกับคอมพิวเตอร์’จะถูกมองเป็นช่วงตื่นเต้นที่สุด เหตุเพราะถูกนำไปเทียบกับซีเควนซ์อื่นที่เหลือซึ่งล้วนใช้เทคนิคเร้าอารมณ์แต่น้อย แต่ไม่น่าจะใช่เหตุผลหลัก เนื่องจากนัยยะการสะท้อนความกลัวที่ว่าเครื่องจักรจะมีชัยเหนือมนุษย์นั้นมีมาเนิ่นนาน ดังนั้นถ้า HAL-9000ซึ่งเป็นต้นแบบของแนวคิดเชิงนามธรรมอย่าง ’ความสมบูรณ์แบบ’ ที่ถูกยกระดับให้เป็นรูปธรรม ด้วยคาแรคเตอร์ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ราวกับเป็นบุคคล จะกลายเป็นที่จดจำ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
3.นำไปสู่ปริศนาทั้งหมดในซีเควนซ์สุดท้าย ที่ยังถูกนำมาขบคิดตีความหมายกันจนถึงทุกวันนี้ และคงไม่มีใครฟันธงคำตอบลงไปได้เว้นแต่จะถอดญาณไปถามกับคนทำหนัง แต่อยากจะถือโอกาสขอสันนิษฐานเกี่ยวกับ’ทารก’ ไว้ในที่นี้(คนที่ไม่เคยผ่านตาหนังเรื่องนี้อาจจะอยากละเว้นย่อหน้าถัดไป)
เห็นได้ชัดว่าการได้เข้ามาอยู่ในห้องจำลองซึ่งประกอบด้วยเครื่องเรือนราวกับห้องสวีทของโรงแรม หลังจาก’การเดินทางอันแสนยาวไกล’นั้นก็เพื่อรอเวลา เพราะไม่อาจหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสังขาร แต่เมื่อผู้เฝ้าดูได้ปรากฏตัวขึ้นในรูปลักษณ์ของโมโนลิธ พลันเขาก็กลับเป็นทารกในครรภ์ แต่ด้วยเหตุที่เป็นมุมมองราวกับผ่านสายตาของแท่งหิน มันจึงเป็นไปได้ว่า สุดท้ายแล้ว แม้มนุษย์คนนี้ หรืออาจรวมความถึงเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งปวง ที่ให้กำเนิดปัญญาประดิษฐ์ เดินทางข้ามระบบสุริยะ และกระทั่งเฉียดเข้าใกล้’คำตอบสุดท้าย’นั้นในสายตาของ’เขา’ ก็ยังมองว่าง’เรา’เป็นดุจทารกในครรภ์อยู่นั่นเองแต่การที่ได้กลับมาเยือนดาวบ้านเกิดอีกครั้ง มันก็อาจหมายความได้ด้วยว่า ทารกยังมีโอกาสพิสูจน์อะไรบางอย่างต่อไปอีก
ถึงอย่างนั้นก็ตาม คงไม่มีบทสรุปใดจะดีไปกว่าที่คนดูแต่ละคนได้ประจักษ์และสร้างทรรศนะของตนขึ้นมา ถ้าประสบโชคดี ใครคนนั้นก็อาจจะไปได้ไกลกว่า’ทารก’ในห้องจำลองแห่งนั้น แต่แม้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ก็ไม่จำเป็นต้องหวั่นใจไป เพราะอันที่จริง คอนเซ็ปต์ของหนัง 2001 นั้นเรียบง่ายจนบอกเล่าได้ด้วยประโยคเดียว
มันเป็นเรื่องราวการเดินทางค้นหาคำตอบมนุษยชาติเท่าที่ศักยภาพของตนจะเอื้ออำนวย…